หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พรปีใหม่แด่...ทุกท่าน

ส.ค.ส.ปี พ.ศ.๒๕๕๕
Merry Christmas and Happy New Year




                                            
                                            สวัสดีปีใหม่
                                    ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย
                                    อำนวยชัยแด่ทุกท่านวันปีใหม่
                                    จงประสบสุขสมหวังดังใจ
                                    กอร์ปกิจใดขอให้เจริญไกล
                                    ขอแม่กวนอิมพระโพธิสัตว์
                                    ช่วยขจัดทุกข์โศกแลโรคภัย
                                    สิ่งเลวร้ายทั้งหลายจงหายไป
                                    ขอสิ่งใดดีจงมีแด่ท่านเทอญ
                                           .............
                                    

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การเห็นประโยชน์ของศีล





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ใฝ่ใจในธรรมทุกท่าน

เรื่องเกี่ยวกับการถือศีล  การรักษาศีลและการมีศีลนั้น  ก็จะต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของศีลก่อน  จะต้องเป็นผู้เห็นโทษของการมีความประพฤติทางกายไม่ดี  และเป็นผู้มีวาจาไม่ดี  แล้วจึงจะมีการเพียรที่จะเห็นประโยชน์ของการรักษาศีล คือ เว้นจากการฆ่า การทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่น.....เว้นจากการละเมิดสิ่งของ ๆ ผู้อื่นที่ไม่ได้ให้......เว้นจากการล่วงเกินภรรยา สามี หรือลูกของผู้อื่น.....  เว้นจากการพูดคำหยาบคาย  คำพูดที่ไม่จริง มุสาวาท  คำพูดส่อเสียดและคำพูดที่ไร้สาระ เพ้อเจ้อ......เว้นจากการดื่มสุราและเสพของมึนเมา.....ขณะใดที่วิรตีเจตสิกเกิดขึ้น ก็จะทำหน้าที่วิรัติ (งดเว้น) จากการประพฤติไม่ดีทางกายและทางวาจา  การที่มีวิรัติทุจริตทางกายและทางวาจา  ก็เพราะเหตุว่าเห็นประโยชน์ของศีล  ไม่ใช่เพื่อคำสรรเสริญเยินยอจากบุคคลอื่น

ศีลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยเหตุ ๔ ประการดังนี้
โดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ๑
โดยการสมาทาน ๑
โดยการก้าวล่วง ๑
โดยการกระทำให้เป็นปรกติ เมื่อมีการก้าวล่วง ๑

๑.โดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย.....บุคคลบางท่านมีตนเป็นใหญ่  เพราะเหตุว่ามีอัธยาศัยบริสุทธิ์ รังเกียจบาป ยังหิริให้ปรากฏภายในจิต  แล้วมีสมาจาร (ความประพฤติ)บริสุทธิ์ด้วยดี

๒.ศีลบริสุทธิ์โดยการสมาทาน.....บุคคลบางท่านเมื่อมีการสมาทาน  ถือโลกเป็นใหญ่ มีความสะดุ้งต่อบาป ยังโอตัปปะให้ปรากฏแก่จิต  เป็นผู้มีสมาจาร (ความประพฤติ) บริสุทธิ์ด้วยดี

๓.ศีลบริสุทธิ์โดยการก้าวล่วง.....บุคคลมีศีลบริสุทธิ์เพราะไม่ล่วงแม้ทั้ง ๒ อย่าง คือ ทางกายและทางวาจา

๔.ศีลบริสุทธิ์โดยทำให้เป็นปรกติ เมื่อมีการก้าวล่วง.....บางครั้งหลงลืมสติไป  ศีลก็พึงขาดไปเป็นต้น  ก็มีการกระทำศีลที่ขาดไปนั้น ให้เป็นปรกติโดยเร็ว  ด้วยการอยู่กรรมเป็นต้น  เพื่อความถึงพร้อมแห่งหิริโอตตัปปะ  ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

อรรถ (ความหมาย) ของศีลหรือสีลน แปลความหมายได้หลายอย่างดังนี้....
อรรถที่ว่าสีลน   เพราะเป็นมูลราก คือเป็นเบื้องต้นของกุศล
อรรถที่ว่าสีลน   เพราะรวบรวม  คือไม่กระจัดกระจาย  หมายเอากรรมในทวาร ๖  มีกายกรรมและวจีกรรมเป็นต้น
อรรถที่ว่าสีลน   เพราะเป็นที่รองรับ  คือรองรับกุศลเบื้องสูง
อรรถที่ว่าสีลน   เพราะเป็นที่ตั้งมั่นด้วยดี  เป็นที่ตั้งมั่นของกุศลที่เป็นเบื้องสูง

อานิสงส์ของศีล
๑. เป็นผู้ไม่เสื่อมจากโภคะ
๒. เป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศจขรขจายไปไกล ด้วยอำนาจแห่งคุณความดี
๓. เป็นผู้ไม่เก้อเขินเมื่อเข้าสู่บริษัท
๔. เป็นผู้ไม่หลงกระทำกาลกิริยา
๕. เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว  ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาพระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ภัยของชีวิต




นะโมตัสสะ ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ
 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

การที่สัตว์โลกทั้งหลายต้องมีการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏฏ์  ก็ด้วยเหตุว่ายังมีกิเลสและอกุศลจิตอยู่มากมาย ยังมีความผูกพันยึดติดในการให้และการรับอยู่มาก อันเป็นปรกติในชีวิตประจำวันของมนุษย์ความผูกพันยึดติดในการให้และการรับเป็นอกุศลจิต  อันเป็นเหตุให้เกิดภัยต่าง ๆ ของชีวิต  เช่น ภัยคือการเกิด  ภัยคือความแก่  ภัยคือความเจ็บไข้  ภัยคือความตาย.... เมื่อมีการเกิด (ชาติ) ก็จะต้องมีการแก่ (ชรา)....เมื่อมีการแก่ก็จะต้องมีความเจ็บป่วยไข้ (พยาธิ).....เมื่อมีการเจ็บป่วยไข้ก็จะต้องมีการตาย (มรณะ)  เหล่านี้ล้วนแต่เป็นภัยต่อชีวิต......นอกจากนั้นยังมีภัยอื่น ๆ อีก เช่น ราชภัย โจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย  วาตภัย....ภัยคืออาชญา  ภัยคือทุคติ  ภัยคือการติเตียนตน  ภัยคือการติเตียนผู้อื่น และภัยอื่น ๆ อีกมากมายที่เกิดจากธรรมชาติบ้าง และภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์บ้าง

"ภัย" คือการติเตียนตน เป็นภัยที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าอกุศลมีมากมาย  การกระทำอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่อกุศลที่เกิดกับจิต  ผู้ที่มีสติระลึกรู้อยู่เนือง ๆ ก็จะรู้ได้ว่า "อกุศล" เป็นสภาพธรรมะที่น่ารังเกียจมาก จึงเกิด "หิริ" คือความรังเกียจในอกุศลธรรมนั้น และเกิด "โอตตัปปะ" คือความเห็นโทษเห็นภัยของอกุศลต่าง ๆ  ดังนั้นจึงควรเพียรติเตียนตนเสมอ ๆ แม้เพียงอกุศลเล็กน้อยที่เกิดกับจิต  นอกจากนั้นยังมีภัยที่เกิดจากการติเตียนผู้อื่น ทำให้เกิดภัยร้ายแรงได้ เช่น อาชญาภัย  และยังมีภัยที่สำคัญมากคือทุคติภัย ซึ่งได้แก่ อบายภูมิ ๔  ได้แก่ นรก  อสุรกาย เปรต สัตว์เดรัจฉาน  ถึงแม้ว่าไม่มีใครปรารถนาอบายภูมิ  แต่ถ้าประกอบอกุศลกรรมอยู่เนือง ๆ  อันเป็นเหตุปัจจัยแก่อบายภูมิ  ก็จะต้องปฏิสนธิในอบายภูมิหรือทุคติภูมิได้  แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็จะทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้  ก็เป็นเรื่องภัยของชีวิต  ซึ่งเกิดจากกิเลสและอกุศลกรรมต่าง ๆ  ถ้าท่านใดพิจารณาตนเองอยู่บ่อย ๆ มาก ๆ  ก็ย่อมจะยิ่งมีโอกาสขัดเกลากิเลสที่ละเอียดมากขึ้น  เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรละเลยที่จะศึกษาพิจารณา ไตร่ตรองพระธรรมเทียบเคียงด้วย  เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรม อย่าเพียงแต่ฟังหรืออ่านแล้วเชื่อโดยขาดเหตุผล  ควรที่จะเทียบเคียงพิสูจน์พิจารณา อ้างอิงพร้อมทั้งเหตุผลด้วย จะได้ไม่เกิดภัยแก่ชีวิตเพิ่มขึ้น

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความตอนใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย......ขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ


วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อารมณ์หมายถึงอะไร





 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

คำว่า "อารมณ์" หมายถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้  หรือสิ่งที่ถูกจิตรู้  เช่น  สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตาให้จิตเห็นเกิดขึ้น  สิ่งต่าง ๆ นั้นก็เป็นอารมณ์ของจิตเห็นขณะนั้น...เสียงปรากฏทางหู  เกิดจิตกำลังได้ยินเสียง  เสียงเป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น....กลิ่นปรากฏทางจมูก  เกิดจิตกำลังรู้กลิ่น  กลิ่นเป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น.....รสปรากฏที่ลิ้น เกิดจิตกำลังลิ้มรส  รสก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น....การกระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึงปรากฏทางกาย  เกิดจิตกำลังรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง  และเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง ก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น....เรื่องราวต่าง ๆ ที่จิตกำลังนึกคิด เรื่องราวต่าง ๆ  ก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น  เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิต  ก็จะต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้ทุกครั้งไป  จิตจะเกิดขึ้นโดยปราศจากสิ่งที่ถูกรู้ (อารมณ์)ไม่ได้เลย....เมื่อมีจิตเกิดขึ้นขณะใด  ขณะนั้นจะต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้ด้วย 

"จิต" เป็นสภาพธรรมะที่สามารถรู้ได้ทุกอย่าง..... สิ่งใดมีจริง เช่น รูป จิต เจตสิก นิพพาน จิตสามารถรู้ได้จิตสามารถรู้ได้ทั้งปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม....จิตเป็นปรมัตถธรรม เป็นธาตุรู้สภาพรู้  ไม่ว่าจะเป็นจิตของคนหรือจิตของสัตว์เดรัจฉาน  ก็เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้เหมือนกันหมด  และเมื่อจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้เสมอ....จิตเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารต่าง ๆ   จิตเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่ามีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น  ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยให้จิตเกิด  จิตก็จะเกิดไม่ได้เลย  เช่น ถ้ารูปไม่เกิดขึ้นกระทบตา (จักขุปสาทรูป)  จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย....ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้นกระทบหู (โสตปสาทรูป)  จิตได้ยิน (โสตวิญญาณ) ก็จะเกิดไม่ได้เลย....ถ้าไม่มีกลิ่นกระทบที่จมูก (ฆานปสาทรูป) จิตรู้กลิ่น (ฆานวิญญาณ) ก็จะเกิดไม่ได้เลยเช่นกัน....ถ้ารสไม่เกิดขึ้นกระทบลิ้น (ชิวหาปสาทรูป)  จิตรู้รส (ชิวหาวิญญาณ) จะเกิดไม่ได้เลย....ถ้าไม่มีการกระทบสัมผัสทางกาย (กายปสาทรูป) เกิดขึ้น จิตรู้สัมผัส (กายวิญญาณ) เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึงก็จะเกิดไม่ได้เลย....จิตที่เกิดแต่ละประเภทนั้น  จะต้องมีเหตุปัจจัยหลายปัจจัย ที่จะทำให้จิตประเภทนั้น ๆ เกิดขึ้นได้....จิตมีทั้งหมด ๘๙ ประเภทหรือดวง (พิเศษ ๑๒๑ ประเภทหรือดวง) ...."อารมณ์" ก็เป็นปัจจัยประเภทหนึ่งที่ทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น  เรียกว่า อารัมณปัจจัย

สำหรับบทความนี้ก็เป็นเพียงขั้นพื้นฐานเท่านั้น  หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนต้องขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเจริญพรหมวิหาร ๔ (ตอน ๒)

กรุณา ความสงสารเป็นสภาพเจตสิกธรรม  มีลักษณะสภาพธรรมที่หวั่นไหวอยู่เฉยไม่ได้ เมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความลำบากอันเกิดจากอกุศลกรรมเป็นเหตุปัจจัย  หรือมีความสงสารที่ผู้อื่นจะต้องประสบกับความลำบากทุกข์ยากในภายหน้า  อันเกิดจากอกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว....กรุณามีลักษณะใฝ่ใจที่จะช่วยขจัดทุกข์ให้แก่ผู้อื่น....ปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้ทีมีความทุกข์ ได้รับความสุขตามเหตุตามปัจจัยที่ตนพึ่งจะได้รับ.....กรุณาจะต้องไม่ประกอบด้วยความขุ่นเคือง ความเศร้าใจ (โทสะ)  จะมีแต่ความแช่มชื่นผ่องใสและเบิกบาน  ซึ่งเป็นมหากุศลจิต...ขณะใดที่จิตมีความขุ่นเคืองเศร้าหมอง  ขณะนั้น "กรุณา" เกิดไม่ได้

กรูณามีลักษณะทางกาย วาจา และใจ ที่เป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์แก่ผู้อื่นให้สิ้นไป  มีความสงบไม่เบียดเบียนผู้อื่น ฉะนั้นจึงควรพิจารณาเห็นว่า  สัตว์ผู้ถูกครอบงำด้วยความทุกข์ เป็นผู้น่าสงสาร.... ข้าศึกใกล้หรืออกุศลธรรมที่เป็นศัตรูคู่ปรับของกรุณา ได้แก่ ความเศร้าโศก (โทมนัส)....ข้าศึกไกลหรืออกุศลธรรมที่เป็นศัตรูคู่ปรับของกรุณา ได้แก่  ความไม่เบียดเบียน (วิหิงสา)

มุทิตา โมทนายินดีต่อผู้ประกอบกรรมดี มีความสำเร็จสุข  พลอยยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข มีความแช่มชื่นผ่องใสและเบิกบาน....มุทิตาที่แท้จริงจะต้องไม่ประกอบด้วย "ริษยา" (อิสสา) เพราะเหตุว่าริษยาเป็นธรรมคู่ปรับของมุทิตา....ขณะใดมี "ริษยา" ขณะนั้น "มุทิตา" เกิดไม่ได้....มุทิตามีหน้าที่ขจัดความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสำเร็จ ความสุขของผู้อื่น....มุทิตามีความสงบไม่มีความริษยาเป็นสมบัติ.....ข้าศึกใกล้หรืออกุศลธรรมศัตรูคู่ปรับของมุทิตา ได้แก่ โสมนัส (ความดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์ด้วย)......ข้าศึกไกลหรืออกุศลธรรมคู่ปรับของมุทิตา ได้แก่ ความไม่ยินดี ริษยา (อรติ)

อุเบกขา เป็นปรมัถธรรมเจตสิก....มีลักษณะวางใจเป็นกลาง  มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีความเสมอเท่าเทียมกัน  พิจารณาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน  มีความสงบ ไม่มีความยินดียินร้าย.....อุเบกขาระงับความขัดเคืองเสียใจ (โทสะ) และความคล้อยตามความดีใจ....พึงพิจารณาเห็นว่า  สัตว์ทั้งหลายจักได้เสวยวิบากกรรมตามเหตุตามปัจจัยที่ได้กระทำกรรมไว้แล้ว  และสัตว์ทั้งหลายจักได้สิ่งใด ๆ  ดังปรารถนาจักมีได้อย่างไร....อุเบกขามี "อัญญาณเบกขา" ความเฉยเมยหรือเมินเฉยซึ่งประกอบด้วยความไม่รู้ (อวิชชา) เป็นข้าศึกใกล้ เพราะเหตุว่าไม่ได้พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง.........ข้าศึกไกลหรืออกุศลธรรมที่เป็นศัตรูคู่ปรับของอุเบกขา ได้แก่ ราคะ (ความใคร่) ปฏิฆะ (ความขุ่นเคือง) ไม่ชอบใจขัดใจ (โทสะ)  อุเบกขามีความสงบ ไม่มีความยินดียินร้ายเป็นสมบัติ

ตัวอย่างมาตรฐานแสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัด  ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง
๑.  เมื่องลูกยังเล็กเยาว์วัย
     แม่-เมตตา รักใคร่ เอาใจใส่ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
๒. เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย
    แม่- กรุณา ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
๓. เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า
    แม่- มุทิตาพลอยปลาบปลิ้มใจ  หรือหวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
๔. เมื่อลูกรับผิดชอบหน้าที่ของตน ขวนขวายอยูด้วยดี
    แม่- อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู

พรหมวิหาร ๔ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อัปปมัญญา ๔"  เพราะเหตุว่าเป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลต่อสัตว์โลกอย่างไม่มีขอบเขต  จึงควรอบรมเจริญให้มียิ่ง ๆ ขึ้น...พรหมวิหารคือคุณธรรมที่ทำให้เสมอด้วยพรหมหรือธรรมเครื่องอยู่ของพรหม...พรหมวิหารมีในผู้ใด  ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น

พึงทราบด้วยว่า...ฉันทะ คือ กัตตกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือความต้องการที่จะทำให้คนและสัตว์ทั้งหลาย  ดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง  เช่นอยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์ เป็นต้น)  เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง ๔ นี้

การข่มระงับกิเลส (เช่นข่มนิวรณ์)  ได้เป็นท่ามกลาง...สมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิ (คือภาวะจิตที่ตั้งมั่นคงเรียบสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบของพรหมวิหารทั้ง ๔ นั้น

สำหรับบทความนี้ ข้อความบางตอนได้คัดลอกมาจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของ   พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต) หากมีความผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัยและท่านพระอาจารย์เจ้าของหนังสือ ไว้ ณ ที่นี้  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย......ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเจริญพรหมวิหาร ๔





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

พรหมวิหาร เป็นคุณธรรมของผู้ประเสริฐ เป็นเรื่องที่ละเอียดซึ่งควรพิจารณา....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเน้นให้อบรมเจริญให้มาก ๆ  เพราะเหตุว่า "พรหมวิหาร " เป็นความสงบของจิตในชีวิตประจำวัน หรือเป็นธรรมเครื่องอยู่ของจิตในชีวิตประจำวัน

พรหมวิหาร ๔  ได้แก่  ๑.เมตตา  ๒.กรุณา  ๓.มุทิตา  ๔.อุเบกขา
๑.เมตตาพรหมวิหาร.....เมตตา แปลว่า มิตรไมตรี  ความเป็นเพื่อนสนิทสนมด้วยความจริงใจ....สภาพปรมัตถธรรมของเมตตาคือ อโทสเจตสิก....ผู้ที่จะเจริญเมตตา จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักลักษณะของเมตตาก่อน ต้องพิจารณาสภาพของจิต หรืออาการของจิตขณะนั้น ประกอบด้วยเมตตาจริง ๆ หรือไม่  แล้วจึงค่อยเจริญเมตตาตามลำดับขั้น....เมตตามีลักษณะเป็นมิตรไมตรี สนิทสนมกับทุกคน มีความเอ็นดู ปกป้องคุ้มครอง เกื้อกูลคอยแสวงหาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขมาให้  มีความสงสารและหวั่นไหวเมื่อเพื่อนมีความทุกข์  ไม่หาโทษให้เพื่อนเป็นทุกข์  ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจาและทางใจ

ถ้าพิจารณาสภาพของจิตและความประพฤติที่เป็นไปทางกาย วาจา ใจ อยู่บ่อย ๆ ก็จะเป็นการอบรมเจริญเมตตาอย่างแท้จริงให้เพิ่มขึ้น.....การเจริญเมตตาตามลำดับขั้น ก็คือเมตตากับคนที่อยู่เฉพาะหน้า คนใกล้ชิด ขณะนั้นให้พิจารณาความรู้สึกของตน ว่าเป็นเพื่อนเป็นมิตรไมตรี สนิทสนมมีความจริงใจหรือไม่.....  ถ้าขณะนั้น  ไม่มีความรู้สึกเป็นมิตรสนิทสนม เมตตาก็จะเจริญไม่ได้....เมตตาพรหมวิหารเป็นเมตตาที่กว้างขวางมากไม่มีขอบเขต....การแผ่เมตตาให้แก่ตนเอง เป็นการเตือนตนเองเท่านั้น....จะสำเร็จประโยชน์ได้  ก็ต่อเมื่อมีเมตตาต่อบุคคลอื่นจริง ๆ......การแผ่เมตตาให้แก่บุคคลแรกคือ ผู้ที่มีคุณเสมอเหมือนครูบาอาจารย์ ผู้ประกอบด้วยคุณธรรม มีเมตตาและกุศลธรรม  เมื่อนึกถึงครั้งใดก็เกิดกุศลจิตทุกเมื่อ ซึ่งจะทำให้จิตมีความอ่อนโยน  เมื่อนึกถึงบุคคลนั้นแล้ว ก็จะนึกถึงแต่ในทางที่ดี  ทำให้กุศลจิตเกิดบ่อย ๆ หวังดีต่อบุคคลนั้น ด้วยประการทั้งปวง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการอบรมเจริญเมตตา.... 

การอบรมเจริญเมตตาจะต้องรู้ว่า ตนเองมีเมตตามากหรือน้อยขนาดไหน  หรือว่ายังขาดเมตตาอยู่มาก  จึงค่อย ๆ อบรมเจริญให้มีทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้ได้ว่า  คนที่รักหรือคนที่ชัง ขณะที่เห็น ที่ได้ยิน หรือขณะที่คิดถึง  ย่อมประกอบด้วยเมตตาเสมอ......ขณะที่เห็นศัตรูก็พร้อมที่จะเกื้อกูลนำสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขไปให้เช่นเดียวกับคนที่รัก.....การอบรมเจริญเมตตาจะช่วยขัดเกลา และละคลายอกุศลหลายประเภท ให้เบาบางลงได้มากทีเดียว เช่น "มานะ" มีลักษณะสำคัญตน ถือตน ข่มผู้อื่น ซึงเป็นอกุศลที่ขวางกั้นเมตตาไม่ให้เกิดขึ้น......ขณะใดที่ "สติสัมปชัญญะ" ไม่่เกิด  ก็จะไม่สามารถเห็น "มานะ" ได้เลย และถ้ามีเมตตาจริง ๆ ก็จะไม่มีมานะเลย....ขณะใดที่มี "ริษยา" ขณะนั้นไม่มีเมตตา...ขณะใดมีความ  ขุ่นเคือง  ขณะนั้นไม่มีเมตตา....เมตตาต้องไม่ประกอบด้วย "โลภะ" (ความติดข้องต้อง ยึดมั่น ถือมั่น)....เมตตาบำบัดความอาฆาตและระงับความพยาบาท  เพราะเหตุว่าเมตตา หมายถึงความเป็นมิตรไมตรีสนิทสนมอย่างแท้จริง.....เมตตาที่ประกอบด้วยความรักใคร่เสน่หาไม่ใช่เมตตาที่แท้จริง.....การที่จะสามาถแยกได้ว่าจิตขณะนั้นเป็น "กุศล" หรือ "อกุศล" นั้น ก็จะต้องเป็นผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่เนื่อง ๆ  ต้องเป็นปัญญาและสติสัมปชัญญะเท่านั้น จึงจะรู้ได้ว่าอะไรเป็นกุศลและอกุศล

สำหรับเรื่องพรหมวิหาร ๔ นี้ ยังมีตอนต่อไปอีก

หากมีข้อความใดขาดตกหรือผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ขันธ์ ๕ ได้ชื่อว่า "อุปาทานขันธ์" เพราะเหตุใด





 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

ขันธ์ ๕  ได้ชื่อว่า "อุปทานขันธ์"....เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ....ผู้ไม่ใช่พระอรหันต์ยังยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕  ยึดถือร่างกายว่าเป็น "เรา" ....ยึดมั่นใน "นามขันธ์และรูปขันธ์" ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นเรา....เรายึดมั่นในรูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์และวิญญาณขันธ์  เพราะเหตุว่าไม่รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง  ดังนั้นจึงเป็น "ทุกข์"

ตราบใดที่ขันธ์ ๕  ยังเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ  ตราบนั้นก็เหมือนกับคนป่วยเพราะถูกโรคเบียดเบียน.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสแก่ นกุลบิดาคฤหัสผู้เฒ่า ให้พิจารณาว่า "เมื่อมีกายกระสับกระส่ายอยู่  จิตขอเราจะไม่กระสับกระส่าย"  พระสารีบุตรได้ขยายความว่า "ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้  มิได้รับการแนะนำในอริยธรรม  ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑.....ย่อมเห็นรูปในตน ๑....ย่อมเห็นตนในรูป ๑.....เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า...เราเป็นรูป...รูปของเรา  เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป  รูปของเรา  รูปนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป  เพราะเหตุว่ารูปแปรปรวนเป็นอื่นไป  โสกะ (ความเศร้าโศก), ปริเทวะ (ความร่ำไรรำพัน) , ความทุกข์ (ความไม่สบายกาย), โทมนัส (ความไม่สบายใจ), อุปายาส (ความคับแค้นใจ) จึงเกิดขึ้น....ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑....ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑........ย่อมเห็นสังขารโดยความเห็นตน ๑....ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑....ด้วยเหตุนี้แล  บุคคลจึงชื่อว่า เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย  เป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย"

พระสารีบุตรได้ทรงขยายความอีกว่า  "บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย  แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่  คืออริยสาวกในพระธรรมวินัย...ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ๑....ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยเป็นตน ๑....ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑....ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑....ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑...เมื่อพระอริยาสาวกไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่น  .....เมื่อวิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่น  เพราะวิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป  โสกะ  ปริเทวะ ทุกข์  โทมนัสและอุปายาส จึงไม่บังเกิดขึ้น.....อย่างนี้แล  บุคคลแม้มีกายกระสับกระส่าย  แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่"

ตราบใดที่ยังยึดมั่นในขันธ์ ๕  ก็ยังเป็นเสมือนคนป่วย  แต่จะหายได้ก็ต่อเมื่อจิตได้ประจักแจ้งในขันธ์ ๕  ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (บังคับบัญชาไม่ได้).....และตราบใดที่ยังยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕  ก็จะต้องเกิดในภพชาติต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด....เพราะฉะนั้นควรอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘   เพื่อที่จะได้เป็นปัจจัยปรุงแต่งจิตให้เริ่มรู้สภาพตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕  ซึ่งเป็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์ทั้งปวง  ไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป....บุคคลผู้ที่จะดับภพชาติได้นั้น  จะต้องเป็นผู้บรรลุพระสัททธรรมขั้นสูงสุด คือ ขั้นอรหันตบุคคล


สำหรับบทความนี้ก็เป็นเพียงย่อ ๆ  หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัย ไว้ ณ ที่นี้....และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย.....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กิเลสคืออะไร





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีข่าวมหาภัยพิบัติน้ำท่วม  นำความวิบัติมาสู่ประเทศชาติบ้านเมืองหาค่าประมาณมิได้ นับว่าเป็นมหาภัยที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  ผู้คนและสัตว์เป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนมาก.....แต่ว่าภัยจาก "กิเลสท่วมใจ" อยู่ทุกขณะจิตนั้น เป็นทุกข์มากกว่าหลายเท่า  ขณะจิตเห็นเกิดก็กิเลสท่วมแล้ว  ขณะได้ยินก็กิเลสท่วม  ขณะลิ้มรสก็กิเลสท่วม  ขณะจิตคิดก็โดนกิเลสท่วมอีกเช่นกัน....เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า "กิเลสท่วมใจ" เป็นภัยที่ร้ายแรงยิ่งกว่าภัยน้ำท่วม  เพราะเหตุว่าลอยคออยู่กลางการท่วมของกิเลสโดยไม่รู้ตัว....ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมะตามความเป็นจริง  ก็จะไม่มีทางที่จะคลายทุกข์ได้เลย...ทุกข์เกิดเพราะน้ำท่วม  ขณะที่จิตคิดเป็นอกุศล  จิตก็ท่วมด้วยกิเลสซะแล้ว  เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีความเข้าใจ (ปัญญา) ธรรมะจริง ๆ แล้ว  จะเอาอะไรไปดับกิเลสได้  จะคลี่คลายทุกข์ได้อย่างไร

กิเลสคืออะไร....กิเลสเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง  ไม่บริสุทธิ์  ไม่ผ่องใส....ขณะที่เกิดความยินดีพอใจ ติดข้องต้องการในสิ่งหนึ่งสิ่งใด  ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมอง ไม่สบายใจ เป็นทุกข์  สติไม่สามารถระลึกรู้สภาพธรรม  ตามความเป็นจริงในขณะนั้นได้  และอวิชชา (ความไม่รู้) ไม่สามารถเห็นได้ว่า  ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง ไม่สบายใจ ไม่บรุิสุทธิ์ เดือดร้อนใจเพราะความติดข้องต้องการ ซึ่งเป็น "อกุศลธรรม"  ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด  ปัญญาไม่พิจารณา ก็จะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็น "โลภะ" หรือขณะที่มีสภาพธรรมความขุ่นเคือง ขัดข้อง หยาบกระด้าง ไม่พอใจเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็น "โทสะ" ....และขณะที่มีความหลงลืมไม่รู้สภาพธรรม ที่ปรากฏขณะนั้นตามความเป็นจริง  ก็เป็น "โมหะ"  ที่กล่าวมานี้เป็นอกุศลทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวันของปุถุชนทั่ว ๆ ไป  คือผู้ยังมีกิเลสอยู่  จะพ้นจาก "โลภะ" ไปไม่ได้เลย....เมื่อใดมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ  เมื่อนั้นยังเป็นผู้มี "กิเลส" อยู่.....กิเลสที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ  เมื่อมีกำลังแรงกล้า ก็สามารถเป็นอกุศลทางกายและอกุศลทางวาจาได้  ถึงแม้ว่าอกุศลทางกายและทางวาจาทั้งสองทางนี้  ดับไปแล้วก็ตาม  แต่การสะสมของกรรม ที่สืบต่ออยู่ทุกขณะ  มีการเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ นั้น  ก็จะเป็นเหตุปัจจัย หรือเป็นกรรมปัจจัย คือเป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิดผลหรือวิบาก (วิบากจิตและเจตสิก) เกิดขึ้น....ดังนั้นจึงต้องรู้ว่าขณะใดเป็น "กิเลส" ขณะใดเป็น "กรรม" และขณะใดเป็น "วิบาก"

จิตเห็น จิตได้ยิน  จิตได้กลิ่น  จิตลิ้มรส  จิตรู้เย็น จิตรู้ร้อน จิตรู้อ่อน จิตรู้แข็ง จิตรู้ไหว จิตรู้ตึง เป็นผลของกรรม (เป็นวิบากจิต) ทั้งสิ้น....ขณะใดได้เห็นสิ่งที่สวยงามหรือสิ่งที่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็นผลของ "กุศลกรรม"....ขณะใดได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ  ขณะนั้นเป็นผลของ "อกุศลกรรม" ....ขณะใดจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ก็ย่อมแล้วแต่ว่า  กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมจะเป็นปัจจัยให้วิบากนั้น ๆ เกิดขึ้นทางทวารหนึ่งทวารใด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ถ้าเป็นผู้ตรงและละเอียด ก็จะสามารถรับพระธรรมเข้าไว้ในจิตใจด้วยความเห็นถูก ความคิดถูกและความคิดดี  และก็จะสามารถศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรมจนสามารถเกิดปัญญาในขั้นสูงสุดได้

สำหรับบทความนี้ก็เป็นเพียงย่อ ๆ เท่านั้น....หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย...และขอโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ขันธ์ ๕





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

ขันธ์ ๕....ปรมัตถธรรม ๓  คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นสังขารธรรม (เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับไป) สามารถแยกอีกนัยหนึ่ง โดยเป็น "ขันธ์ ๕"....ขันธ์ หมายถึง กองหรือกลุ่ม ได้แก่

๑. รูปขันธ์   ได้แก่  รูปทุกรูป
๒. เวทนาขันธ์   ได้แก่   ความรู้สึก (เวทนาเจตสิก)
๓. สัญญาขันธ์   ได้แก่   ความจำรู้หมาย (สัญญาเจตสิก)
๔. สังขารขันธ์   ได้แก่   นามธรรมที่ปรุงแต่งจิต (เจตสิก ๕๐ ดวง)
๕. วิญญาณขันธ์   ได้แก่   จิตทุกดวง (จิต ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง)

๑.รูปขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สามารถรู้ได้ เช่น ร่างกายเมื่อเรารู้สึกแข็งหรือรู้สึกอ่อน แข็งหรืออ่อนเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่รู้ได้เมื่อมีการกระทบสัมผัสทางกาย...รูปขันธ์ไม่ได้หมายถึงเฉพาะร่างกายเท่านั้น  สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ก็เป็นรูปขันธ์ด้วย  เช่น สี  เสียง  กลิ่น  รส  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ไหว  ตึง เหล่านี้เป็นรูปขันธ์  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง

๒.เวทนาขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สามารถรู้....ความรู้สึกทุกอย่างเป็น "เวทนาขันธ์"  เวทนาแบ่งออกเป็น เวทนา ๓ และเวทนา ๕  ดังนี้

เวทนา ๓  ได้แก่  สุขเวทนา (สุขกาย),  ทุกขเวทนา (ทุกข์กาย), อุเบกขาเวทนา (เฉย ๆ)
เวทนา ๕  ได้แก่  โสมนัสเวทนา (สุขใจ), โทมนัสเวทนา (ทุกข์ใจ), อทุกขมสุข (ไม่ทุกข์ไม่สุข), สุขเวทนา, ทุกขเวทนา

เวทนาเกิดกับจิตทุกดวง....การที่เวทนาต่าง ๆ เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับจิต  จึงยากที่จะรู้ได้ว่าเป็นเวทนาประเภทใด  เช่น  สุขเวทนาที่เกิดทางกายกับโสมนัสเวทนา เป็นเวทนาที่เกิดทางใจ  ถึงแม้ว่าจะเป็นนามธรรมเหมือนกัน  แต่ก็เป็นความรู้สึกที่แตกต่างกัน  เพราะมีปัจจัยต่างกัน  เวทนาเป็นเจตสิกเกิดกับจิตแล้วก็ดับไปพร้อมกับจิต  ไม่เที่ยง

๓.สัญญาขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดกับจิตทุกดวงและดับพร้อมกับจิต....สัญญาทำหน้าที่จำและรู้หมายอารมณ์ที่จิตรู้  สัญญาจำทุกอย่างแม้ขณะที่หลงลืมสติ.....สัญญาเป็นเจตสิกเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่เที่ยง

๔.สังขารขันธ์  เป็นสภาพธรรมที่มีจริง (เจตสิก ๕๐ ดวง)  เราสามารถรู้สังขารขันธ์ได้ในขณะที่มีกุศลเจตสิกเกิดขึ้นกับจิต (โสภณเจตสิก)  เช่น ขณะให้ทาน เอื้อเฟื้อ เมตตา  กรุณา  หรือขณะอกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับจิต  เช่น โทสะ โลภะ โมหะ อิสสา  มัจฉริยะ....สภาพธรรมเหล่านี้เป็น "สังขารขันธ์" เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  ไม่เที่ยง

๕.วิญญาณขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง...วิญญาณหมายถึง จิตทุกดวง มีทั้งหมด ๘๙ ดวง  เราสามารถรู้ได้เมื่อมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสทางกายและการนึกคิด....วิญญาณขันธ์เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย  แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง

สังขารธรรม ทั้งหลายก็คือขันธ์ ๕....ขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เรียกว่า "อุปาทานขันธ์"...ฉะนั้นจึงยึดถือในรูปขันธ์และนามขันธ์ ว่าเป็นตัวตน...ยึดรูปร่างกายว่าเป็นตัวตน  ยึดเวทนา  ยึดสัญญา  ยึดสังขาร  ยึดวิญญาณ ว่าเป็นตัวตนเป็นเรา....เมื่อเราไม่รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ก็จะต้องเป็นทุกข์...ตราบใดที่ยังยึดมั่่นในขันธ์ ๕   ย่อมจะต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะทุกข์  และเวียนอยู่ในภพชาติต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด....หนทางที่จะละคลายความยึดมั่นในขันธ์ ๕  และเพื่อความดับขันธ์ ๕ เป็นสมุจเฉทก็คือ  การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘  ซึ่งเป็นทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง  บรรลุอริยสัจจธรรมขั้นอรหันตบุคคล ไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป

บทความนี้เป็นเพียงย่อ ๆ ....หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ณ ที่นี้ด้วย ...ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความจริงที่ควรพิจารณา



   
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

ทุกคนมีชีวิตในชาติหนึ่ง ๆ  ยืนยาวบ้างหรือสั้นบ้าง  ขึ้นอยู่ที่กรรมซึ่งได้กระทำไว้แล้ว....การอบรมปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ตามความเป็นจริง ให้เพิ่มขึ้นในแต่ละชาติ ย่อมมากบ้างหรือน้องบ้าง  เพราะเหตุว่าในชีวิตแต่ละวัน เต็มไปด้วยภารกิจและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย....ดังนั้นโอกาสที่จะได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมและอบรมเจริญปัญญาให้เพิ่มขึ้นนั้น  จึงเป็นโอกาสอันประเสริญยิ่ง  บางชีวิตอาจจะยืนยาว  แต่ไม่มีโอกาสได้อบรมปัญญาเลย  ก็เป็นชีวิตที่ไร้ค่าไร้สาระ  เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

แต่ละคนก็จะต้องจากโลกนี้สักวันใดวันหนึ่ง  จะต้องหมดสภาพจากความเป็นบุคคลนี้  จะต้องจากทุกสิ่งที่ทุกอย่างที่ตนมีตนรัก  จะต้องจากเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ของโลกนี้ทั้งสิ้น....สิ่งที่สะสมก็คือกุศลบ้างและอกุศลบ้าง  มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป  ซึ่งจะเป็นเหตุปัจจัย นำไปปฏิสนธิในภพหรือภูมิใหม่เพื่อเสวยวิบากกรรมอีกต่อไปในสังสารวัฏฏ์....เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะนำติดตัวไป  ก็ควรที่จะเป็น "กุศล" คือการเจริญกุศลด้วยการฟังธรรม  เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้น  และอบรมเจริญสติปัฏฐานอยู่เนือง ๆ

การพิจารณาธรรมะหรือความจริง  ต้องพิจารณาอย่างละเอียดแยบยล (โยนิโสมนสิการ)....ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมก็จะไม่สามารถ  ที่จะพิจารณาลักษณะสภาพธรรมได้เลย  จึงเป็นเหตุให้มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ยึดถือสภาพธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นตัวเรา เช่น "ขณะเห็น" ก็ยึดถือว่าเป็น "เราเห็น"..... "ขณะได้ยิน" ก็ยึดถือว่าเป็น "เราได้ยิน" เป็นต้น....ความจริงแล้วลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตาคือ "เห็น" เป็นเพียง "นามธรรมหรือจิต" ประเภทหนึ่งซึ่งเกิดที่ตา  ทำหน้าที่เห็นเท่านั้น....ส่วนอารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตานั้น เป็นเพียง "รูปธรรม" เท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล....."นามธรรมและรูปธรรม" เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป....สภาพธรรมที่เกิดปรากฏทางทวารอื่น ๆ  ก็มีนัยเดียวกัน

เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางทวารทั้ง ๖ อยู่ตลอดเวลา  สติไม่ได้ตามระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจิตเกิดความยินดีพอใจบ้าง  หรือไม่ยินดีพอใจบ้าง เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขบ้าง  หรือความรู้สึกเป็นทุกข์บ้างในแต่ละขณะจิต....จึงเป็นชีวิตที่ไร้สาระผ่านไปแต่ละวัน ๆ   ถ้าไม่ได้สะสมอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย ก็จะเสียเวลาและโอกาสอันประเสริฐไปในชาติหนึ่ง ๆ 

สำหรับบทความนี้  หากมีข้อความตอนใด ผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย....และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ

วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สังขารธรรมและสังขารขันธ์





 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

สังขารธรรม ได้แก่  ปรมัตถธรรม ๓  คือ จิต เจตสิก รูป.......นิพพานไม่ใช่สังขารธรรม  นิพพานเป็นวิสังขารธรรม.....สภาพของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิด เป็นสภาพธรรมที่แตกต่างกัน....จิตเป็นสภาพรู้  เวทนาเป็นสภาพความรู้สึก....จิตและเจตสิกเป็นสภาพนามธรรมคนละประเภท....ส่วนรูปเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไร....สังขารธรรมหรือธรรมะทั้งปวง เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยจึงเกิดแล้วก็ดับไป....สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์  เพราะเหตุว่าสังขารธรรมทั้งปวงไม่เที่ยง....ความไม่เที่ยงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์....จึงไม่ควรที่จะยึดถือธรรมทั้งปวงว่าเป็นตัวเราของเรา....สังขารธรรมตกอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

จิตที่เพลิดเพลินยินดีพอใจเป็น "ความสุข" นั้นก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วก็ดับไป....สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์นั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะทุกข์ทางกายที่มีการเจ็บปวด  ไม่สบายป่วยเป็นไข้  ความลำบากกาย ความเดือดร้อนกายเท่านั้น  ยังมีทุกข์เกิดขึ้นทางใจ.....ทุกข์ที่ต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจ   ทุกข์ที่ต้องประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักที่ชอบใจ ความเศร้าโศกพิไรรำพัน ความปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์ 

สังขารขันธ์.....รูปทั้งหมดแต่ละรูปเป็นรูปขันธ์.....จิตทั้งหมดเป็นวิญญาณขันธ์หรือนามขันธ์....สำหรับเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ดวง ได้แก่  เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ ๑ ดวง.....สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ ๑ ดวง.....ที่เหลือเจตสิก ๕๐ ดวงเป็น "สังขารขันธ์".....สังขารขันธ์แต่ละดวงมีสภาพแตกต่างกันและทำหน้าที่ปรุงแต่งจิต ให้เป็นกุศลและอกุศลแล้วแต่เหตุปัจจัย....เพราะฉะนั้นสังขารธรรมจึงมีความหมายกว้างกว่าสังขารขันธ์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมตามสภาพความจริงของธรรมแต่ละประเภทว่า  ธรรมใดเกิดขึ้น ธรรมนั้นมีปัจจัยทำให้เกิด ธรรมที่เกิดขึ้นเป็น "สังขารธรรม"........ถึงแม้ว่า จิต เจตสิก รูป จะเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ก็ยากที่จะเห็นได้รู้ได้ และเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด ละความยินดีพอใจ คลายความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมได้....การที่จะเบื่อหน่าย ละความยินดี ความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมได้นั้น จะต้องพิจารณาเห็นด้วยปัญญา  ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดังนี้ว่า "เมื่อใด บุคคพิจารณาด้วยปัญญาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง  เมื่อนั้นเขาย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์  นี้เป็นหนทางแห่งความบริสุทธิ์"  

สำหรับบทความนี้เป็นเพียงแบบย่อ ๆ เท่านั้น.....หากมีข้อความตอนใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน 

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อบายมุขหมายถึงอะไร



 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

อบายมุข หมายถึง ช่องทางแห่งความเสื่อมความฉิบหาย เป็นเหตุแห่งความวิบัติย่อยับเสื่อมเสียโภคทรัพย์และอื่น ๆ อีกมากมาย อบายมุขแบ่งเป็น ๖ ประการ


อบายมุข ๖  ทางแห่งความเสื่อมเสียย่อยยับ ๖  ประการ  ได้แก่

๑.  การติดสุราและของเสพติดมึนเมา  มีโทษ ๖  อย่าง  คือ
     ๑.๑   เสียทรัพย์สิน
     ๑.๒. ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท
     ๑.๓. ทำลายสุขภาพ
     ๑.๔. ทำลายและเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศ
     ๑.๕. เป็นผู้ไม่มีความละอาย
     ๑.๖. บันทอนกำลังปัญญา

๒. การชอบเที่ยวกลางคืน  มีโทษ ๖  อย่าง  คือ
    ๒.๑.  เป็นการไม่รักษาตนรักชีวิต
    ๒.๒.  เป็นการไม่รักษาครอบครัว ลูกและภรรยา
    ๒.๓.  เป็นการไม่รักษาทรัพย์
    ๒.๔.  เป็นที่ระแวงของสังคม เป็นผู้ต้องสงสัย
    ๒.๕.  เป็นเป้าหมายให้ผู้อื่นใส่ร้ายในทางไม่ดีได้
    ๒.๖.  เป็นเหตุนำเรื่องเดือดร้อนมาให้ตนเองและครอบครัว

๓. การชอบดูการละเล่น  มีโทษ ๖  อย่าง  คือ
    ๓.๑.  อยู่ไม่ได้ มีการเต้นรำที่ไหนต้องไปที่นั่น
    ๓.๒.  อยู่ไม่ได้ มีขับร้องที่ไหนต้องไปที่นั่น
    ๓.๓.  อยู่ไม่ได้ มีดีดสีตีเป่าที่ไหนต้องไปที่นั่น
    ๓.๔.  อยู่ไม่ได้ มีเสภาที่ไหนไปที่นั่น
    ๓.๕.  อยู่ไม่ได้ มีเพลงที่ไหนต้องไปที่นั่น
    ๓.๖.  อยู่ไม่ได้ มีเถิดเทิงที่ไหนต้องไปที่นั่น

๔. การติดการพนัน เป็นนักพนัน ชอบเล่นการพนัน มีโทษ ๖ อย่าง  คือ
    ๔.๑.  เมื่อชนะย่อมก่อเวร
    ๔.๒.  เมื่อแพ้ก็เกิดการเสียดายทรัพย์ที่เสียไป
    ๔.๓.  เมื่อเสียทรัพย์หมดไปเห็นได้ชัด
    ๔.๔.  เมื่อเข้าที่ประชุม ไม่มีใครเชื่อในถ้อยวาจาที่กล่าว
    ๔.๕.  เป็นที่หมิ่นประมาทของเพื่อนฝูง
    ๔.๖.  ไม่เป็นที่ประสงค์ของผู้ที่จะหาคู่ครอง เพราะเห็นว่าเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ

๕. การคบคนชั่วเป็นมิตร  ทำให้เกิดโทษ ๖  อย่าง  คือ
    ๕.๑.  คบนักการพนัน                        ๕.๔  คบนักลวงของปลอม
    ๕.๒.  คบนักเลงผู้หญิง                      ๕.๕. คบนักหลอกลวงต้มตุ๋น
    ๕.๓.  คบนักเลงเหล้า                        ๕.๖. คบนักเลงหัวไม้

๖. การเกียจคร้านการทำงาน  มีโทษ ๖  อย่าง  คือ
    ๖.๑.  มักอ้างหนาวนักแล้วไม่ทำงาน     ๖.๔.  มักอ้างยังเช้าอยู่แล้วไม่ทำงาน
    ๖.๒.  มักอ้างเย็นนักแล้วไม่ทำงาน       ๖.๕.  มักอ้างว่าหิวกระหายแล้วไม่ทำงาน
    ๖.๓.  มักอ้างร้อนนักแล้วไม่ทำงาน       ๖.๖.  มักอ้างอิ่มนักแล้วไม่ทำงาน

ช่องทางแห่งความเสื่อมย่อยยับฉิบหายเหล่านี้  เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจอย่างยิ่ง  ฉะนั้นบุคคลผู้ทราบโทษของอบายมุข ๖ แล้ว..... พึงควรที่จะละเว้นเสีย เพื่อความสุขความเจริญยิ่งแห่งชีวิต

บทความนี้หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย......ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร







ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งปวง พร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวงพระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ ให้พุทธบริษัทให้รู้ตามพระองค์  ให้ทราบว่าสภาพธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา.....สภาพธรรมทั้งปวงเป็น "ปรมัตถธรรม" คือเป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาหรือเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้น ๆ ได้ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้  จะเรียกภาษาอะไร หรือไม่เรียกก็ตาม  สภาพธรรมนั้น ก็ไม่มีใครที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย....สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น  เพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปตามเหตุปัจจัย

ความที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง  จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด  และหลงยึดสภาพธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นเรา ของเรา จึงทำให้เกิดความยินดีพอใจ ติดข้องต้องการ ยึดติดเพิ่มยิ่งขึ้นในลาภ ยศ สรรเสริญ โภคทรัพย์ ชาติตระกูล วรรณะ....ตามความจริงแล้วสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น  ทางกายและทางใจนั้น  เป็นเพียงลักษณะสภาพธรรมแต่ละชนิด  เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยต่าง ๆ กัน

วัตถุสิ่งของต่าง ๆ และเสียง  กลิ่น  รสต่าง ๆ  เย็น  ร้อน  อ่อน แข็ง ไหว ตึง และเรื่องราวต่าง ๆ  นั้น  จะปรากฏให้รู้ได้ ก็ต่อเมื่อมีสภาพธรรมที่เป็น "สภาพรู้"  ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงบัญญัติเรียกสภาพรู้นี้ว่า "จิต"  สภาพรู้หรือจิตนี้ก็ได้แก่  การได้เห็น (จักขุวิญญาณ)....การได้ยิน (โสตวิญญาณ)...  การได้กลิ่น (ฆานวิญญาณ)....การลิ้มรส (ชิวหาวิญญาณ).....การรู้ร้อน  การรู้เย็น  การรู้อ่อน  การรู้แข็ง  การรู้ไหว  การรู้ตึง (กายวิญญาณ)  และการรู้ความนึกคิด (มโนวิญญาณ)

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งปวง  พระองค์ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้  เพื่ออนุเคราะห์แก่สัตว์โลกทั้งหลาย  นับตั้งแต่สมัยตรัสรู้  ตราบจนถึงปรินิพพานเป็นเวลา ๔๕ พรรษา  ด้วยพระปัญญาธิคุณ  พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ  พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย "สัมปทา" คือ เหตุสัมปทาและผลสัมปทา  แล้วพระองค์ก็ได้ทรงโปรดเวไนยสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ เป็นการถึงพร้อมด้วย "สัตตูปสัมปทา"  การเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะต้องถึงพร้อมด้วยสัมปทาทั้งสาม....การตรัสรู้ธรรม ทำให้พระองค์ทรงหมดกิเลส  และพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมที่พระองค์ตรัสรู้  ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้หมดกิเลสด้วย

สำหรับบทความนี้เป็นเพียงย่อ ๆ เท่านั้น  หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ

                                             
                                               ............................................






วันศุกร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ดับโกรธได้อย่างไร






ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ใฝ่ในพระธรรมทุกท่าน

โกรธ...เป็นสภาพธรรมะที่มีจริง ๆ  เป็นโทสมูลจิตหรือโทสเจตสิก....."โทสะ" เป็นสภาพที่หยาบกระด้าง  ขุ่นเคือง  ความรำคาญใจ ความอิจฉา ความไม่พอใจ ความไม่สบายใจ...เพราะเหตุว่ามีโทสมูลหรือโทสเจตสิก จึงทำให้เกิดโทสมูลจิต

ถ้าไม่มีปัญญาจริง ๆ ก็ไม่สามารถที่จะกำจัดกิเลสได้เลย  และปัญญาก็จะต้องเป็นไปตามลำดับขั้นด้วย....เริ่มตั้งแต่ปัญญาขั้นการฟังธรรม ศึกษาธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจธรรมที่ละเอียด  จึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น....การฟังและการศึกษาก็เพื่อให้เกิดเข้าใจและความเห็นถูกต้อง ซึ่งเป็น "ปัญญา" ขั้นต้น....การเข้าใจเรื่องของธรรมะ  จนกระทั่งเป็นปัจจัย ให้สติเกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ได้ตามความเป็นจริง....แต่ก็ยังไม่เพียงพอแค่นั้น  เพราะว่าเป็นเพียงปัญญาขั้นต้นเท่านั้น....ต้องฟังธรรม ศึกษาธรรมและพิจารณาธรรม ให้เข้าใจเพิ่มขึ้น ๆ ทีละน้อย  จนสามารถเข้าใจในสภาพธรรมะที่ปรากฏขณะนี้ ตามความเป็นจริง  ซึ่งเป็น "ปัญญา" ขั้นละเอียดขึ้น

ถ้าขณะนี้กำลังโกรธ  สติระลึกได้ว่า "ไม่ควรที่จะโกรธตอบ เพราะว่าจิตขณะนั้นเป็นอกุศล"  สภาพที่โกรธมีจริง ๆ  ปัญญาสามารถเห็นความหยาบกระด้างของจิตในขณะที่โกรธ  และปัญญาก็สามารถรู้ตามความเป็นจริงว่า  สภาพธรรมที่เกิดนี้ ไม่มีผู้ใดบังคับบัญชาได้....เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมแล้วก็เกิดขึ้น  ทำหน้าที่ตามกำลังของความโกรธนั้น จะโกรธมากหรือโกรธน้อยก็ขึ้นอยู่ที่กำลังของกิเลส (โทสมูลจิต).....ขณะโกรธแล้วระลึกได้...พิจารณาบุคคลอื่นในทางที่จะทำให้เกิด เมตตาบ้าง(ความเป็นมิตรไมตรี  เกื้อกูล)  กรุณาบ้าง (ความสงสาร)  มุทิตาบ้าง (ยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุขหรือประสบความสำเร็จ) อุเบกขาบ้าง (วางใจเป็นกลาง) นี่เป็นกุศลจิตซึ่งปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ  ซึ่งเป็นจิตที่สงบ.....ฉะนั้นเมื่อต้องการที่จะดับกิเลสจึงต้อง "อบรมเจริญกุศลทุกประการ" ไม่ใช่เพียงแต่มุ่ง "ทำทาน" เท่านั้น

โทษของการโกรธ....ถ้าเป็นผู้โกรธง่ายหรือโกรธอยู่เสมอ  จนกระทั่งเป็นอาจิณกรรมและกรรมนั้นแหละก็จะพาไปปฏิสนธิ (เกิด) ในทุคติภูมิ....ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ จะไม่โกรธตั้งแต่เดี๋ยวนี้  เพราะเหตุว่าจุติจิต (ตาย) จะเกิดเมื่อไร ไม่สามารถทราบได้ และปฏิสนธิจิตจะเกิดเมื่อไรก็ไม่ทราบได้เช่นกัน ถ้าไม่โกรธอยู่เสมอจนเป็นอาจิณกรรม ก็จะหวังได้ว่ากรรมนั้นคงจะพาไปสู่สุคติภูมิ

สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา โทสะก็เป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย....ผู้ที่ดับโทสะเป็นสมุจเฉท โทสเจติสิกไม่เกิดอีกเลย จะต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญา  รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นอริยบุคคลขั้น "พระอคานามีบุคคล" 

สำหรับบทความนี้เป็นเพียงย่อ ๆ  เท่านั้น.....หากมีข้อความตอนใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปุถุชน

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

คำว่า "ปุถุชน" หมายความว่า เป็นผู้หนาด้วยกิเลส ยังกิเลสมากมายให้เกิด เป็นผู้ไม่ชอบฟังสิ่งที่ควรรู้ ซึ่งยังเป็นผู้มืดบอด ไม่สนใจแม้เพียงแต่จะฟังสิ่งที่น่ารู้ควรรู้เพียงเล็กน้อย....ปุถุชนผู้มีความเห็นถูกต้อง มีความ ศรัทธาที่่่จะฟังสิ่่งที่ควรรู้  ฟังพระธรรมเพื่อเกื้อกูลให้เกิดความรู้ ความเข้าใจตามความเป็นจริงของลักษณะสภาพธรรม ที่ปรากฏตามความเป็นจริงขณะนั้น..... จนกว่าจะพ้นจากความเป็น "ปุถุชน" เข้าสู่ความเป็นอริยบุคคล โดยละคลายความติดข้อง ยินดี พอใจในสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจได้หมด  เพื่อความไม่ประมาท....จึงควรฟังพระธรรมเพื่อสะสม "ความเห็นถูกต้อง" (สัมมาทิฏฐิ)

พึงยอมรับตามความเป็นจริงว่า ตนยังมีกิเลสมากมายอยู่....."ปุถุชน"  ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ ว่าเป็นแต่เพียงสิ่งต่าง ๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับไปไม่เหลือเลย....ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา  ถ้ารู้อย่างนี้ไม่ได้....กิเลสก็จะไม่มีวันที่จะเบาบางลงเลย  เพราะฉะนั้นจึงควรยอมรับตามความเป็นจริงว่า ยังเป็นผู้มีกิเลสมากมายอยู่

ปุถุชนผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งในอริยสัจจธรรม "เป็นผู้ที่มิได้สดับ" เพราะเหตุว่าไม่มีการศึกษาเล่าเรียนและพิจารณาในหัวข้อธรรมะ ได้แก่  ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ปัจจัยต่าง ๆ  และสติปัฏฐานเป็นต้น....ไม่มีมรรคผล  เพราะไม่ได้บรรลุมรรคผลที่ตนจะพึงบรรลุได้ด้วยการเจริญอบรมปัญญา.....ดังนั้นพึงรู้ไว้ว่าเป็น "ผุ้มิได้สดับ" เพราะเหตุว่าถ้าไม่ได้ฟังธรรม ศึกษาธรรม ไม่ได้มรรคผล ก็ย่อมจะต้องเป็นผู้ที่ยังมีกิเลสหนาอยู่ดี

ใจของปุถุชนย่อมหวั่นไหวไปตามกระแสอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ  เพราะเหตุว่ายังมีอกุศลอยู่มากมาย เช่น โลภะ โทสะ โมหะ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมะตามความเป็นจริง....ผู้ไม่ฟังธรรมเหมือนตกอยู่ใต้หลังคาของกิเลส คือถูกกิเลสครอบงำบอดมืดมิด ไม่มีโอกาสที่จะรู้ตามความเป็นจริงเลย  การได้ฟังธรรมเป็นโอกาสอันประเสริฐสุด....... ........ถ้ารู้ได้ว่าตนกำลังอยู่ใต้หลังคาของกิเลส   แล้วเริ่มฟังธรรมศึกษาธรรม  ก็เรียกว่ากำลังเริ่มจะมีแสงสว่าง คือปัญญาที่จะค่อย ๆ  ส่องให้เห็นความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งจะเป็นเพียงหนทางเดียว ที่จะรักษาจิตจากการถูกครอบงำของกิเลสได้

สำหรับบทความนี้เป็นเพียงสังเขป....หากข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ

                                             .........................................

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

กรรมและผลของกรรม







ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

ชีวิตของแต่ละคนในแต่ละวัน  ซึ่งอาจจะประสบกับความสุขบ้างและความทุกข์บ้าง  ซึ่งเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย......จึงควรที่จะทราบไว้ว่า  ต้องมีเหตุปัจจัยที่ได้กระทำมาแล้วในแต่อดีต  ไม่สามารถทราบได้ว่า....."กุศลกรรมและอกุศลกรรม" ที่ได้กระทำไว้แล้วนั้น  "ผลของกรรม" จะส่งผลในขณะใด เมื่อใด  เพราะเหตุว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยที่ควรจะให้ผลเกิด ผลก็จะเกิดขึ้น  โดยที่ไม่มีผู้ใดบังคับหรือยับยั้งได้ตามต้องการ....แม้แต่บุคคลผู้ได้สะสมบุญกุศล  จนสามารถที่จะบรรลุพระธรรมเป็นพระอรหันต์  ก็ยังไม่สามารถที่จะหนีพ้นจาก "ผลของกรรม" ที่ได้กระทำไว้แล้วแต่ในอดีต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า " ไม่ว่าในอากาศ  ไม่ว่าในกลางทะเล  ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ระหว่างภูเขา  ย่อมไม่มีภูมิประเทศที่สัตว์สถิตอยู่แล้ว  จะพึงพ้นไปจากบาปกรรมได้ "

"กรรม"  เป็นนามธรรม  ได้แก่  "เจตนาเจตสิก"  ทำให้  "วิบากจิตและรูป" เกิดขึ้น (วิบากจิต ได้แก่  จิตเห็น, จิตได้ยิน, จิตรู้กลิ่น, จิตลิ้มรส, จิตรู้เย็น, จิตรู้ร้อน, จิตรู้อ่อน, จิตรู้แข็ง, จิตรู้ไหว, จิตรู้ตึง)......จิตเห็นสิ่งที่ไม่ดีทางตา เป็นอกุศลวิบาก...จิตได้ยินเสียงไม่เป็นที่น่าฟัง เป็นอกุศลวิบาก....จิตได้กลิ่นที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอกุศลวิบาก....จิตลิ้มรสสิ่งที่ไม่ปรารถนา  เป็นอกุศลวิบาก.....จิตรู้กระทบสัมผัสทางกาย เย็นร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง ไม่เป็นที่พอใจ เป็นอกุศลวิบาก....ในทำนองตรงข้าม....จิตเห็นสิ่งที่ดีทางตา  เป็นกุศลวิบาก....จิตได้ยินเสียงที่ดีทางหู  เป็นกุศลวิบาก....ทางทวารอื่น ๆ  ก็นัยเดียวกัน

โดยทั่ว ๆ ไปทุกท่านก็มักจะนึกถึง  หรือเห็นผลของกรรม (วิบาก) เฉพาะแต่ที่เป็น "รูป"......ซึ่งแท้ที่จริงแล้วผลของกรรมเป็นสภาพธรรมที่เป็น "นามธรรม"  คือ จิตและเจตสิก นั้นมีด้วย.....แต่ส่วนมากท่านจะนึกถึงในด้านวัตถุต่าง ๆ  นึกถึงรูปร่าง หน้าตา  ผิวพรรณและโภคทรัพย์เป็นผลของกุศลกรรม......ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมท่านก็จะนึกถึงความวิบัติของรูปร่าง หน้าตา  ผิวพรรณและโภคทรัพย์.....แต่ไม่ทราบตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะ ซึ่งเป็นผลของกรรมว่าเป็น "นามธรรม" ด้วย คือ  "จิตและเจตสิกเป็นวิบากจิต"

สำหรับบทความนี้ เป็นเพียงแค่สังเขป....หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ปรมัตถธรรมคืออะไร




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในพระธรรม

ปรมัตถธรรม  คือ สภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล...เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะแต่ละอย่าง ๆ ไม่มีใครที่จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นได้ ไม่ว่าผู้ใดจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม....ใครจะเรียกสภาพธรรมนั้น ๆ ด้วยคำต่าง ๆ หรือภาษาต่าง ๆ หรือจะไม่เรียกสภาพธรรมนั้น ๆ ด้วยคำใดก็ตาม....สภาพธรรมนั้นก็ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย....สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ท่านพระอานนท์ว่า "สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา"

ความไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะที่ปรากฏ....จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงยึดถือสภาพธรรมะที่เกิดดับว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล...ย่อมทำให้เกิดความยินดีพอใจ ติดข้องต้องการ หลงยึดติดใน ลาภ ยศ สรรเสริญ เกียรติ ชาติ วงศ์ตระกูล วรรณะ เป็นต้น....ความจริงนั้น สิ่งที่มองเห็นเป็นเพียงสีต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล....สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นก็เพราะเหตุว่ามีปัจจัยแตกต่างกัน

ปรมัตถธรรมมี ๔ ประเภท....ได้แก่ จิต เจตสิก  รูป  นิพพาน

จิต....เป็นนามธรรม...เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ.....จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้  เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ไหว รู้ตึง และรู้ความคิดนึก.....ทั้งหมดนี้เป็น "จิต" ทำหน้าที่ต่าง ๆ จิตมีทั้งหมด ๘๙ ดวง (๑๒๑ ดวงโดยพิศดาร)

เจตสิก....เป็นนามธรรม....เป็นสภาพธรรมประเภทหนึ่งเกิดร่วมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต เกิดที่เดียวกับจิต ไม่แยกจากจิต.....เจตสิกแต่ละดวง มีลักษณะและกิจการงานแตกต่างกันตามประเภทของเจตสิกนั้น ๆ  เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท

รูป.....เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้....รูปไม่รู้อะไร ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล  เช่น  สี เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย.....รูปมีทั้งหมด ๒๘ ประเภท

นิพพาน....เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์....นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น...นิพพานจึงไม่มีการเกิดดับ

ปรมัตถธรรมคือสภาพธรรมที่มีจริง เป็น "อภิธรรม" เป็นธรรมที่เป็น "อนัตตา" ไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของใคร....เป็นสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย....ธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล....ปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมเป็นธรรมที่มีจริง....ฉะนั้น  จึงต้องมีความเห็นถูกและความเข้าใจถูกต้อง จึงจะเป็นการรู้ตามความเป็นจริงของปรมัตถธรรม ตามสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมนั้น ๆ

หากข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากผู้อ่านทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย......ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

จะคลายความติดข้องได้อย่างไร



ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ในธรรมะทุกท่าน

ท่านทราบไหมว่า....เราทุกคนเดินทางไม่หยุดในสังสารวัฏฏ์และยังจะต้องเดินทางต่อไปอีก เพราะเหตุว่า เราทั้งหลายยังมีความยินดีพอใจติดข้องอยู่ในกาม  ยินดีพอใจติดข้องในขันธ์ ๕  ยินดีพอใจติดข้องในของไร้สาระ.....คนเราแสวงหาอาหารของทุกข์....แสวงหาโดยรอบ คือทางตา ทางหู  ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ........แสวงหาโดยไม่มีการหยุดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ......แสวงหาอาหารของทุกข์ในสังสารวัฏฏ์......ทำให้สังสารวัฏฏ์ต้องยืดยาวนานออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด.....ถ้าไม่รู้จักลักษณะอาหารของทุกข์  ได้แก่ "โลภะหรือตัณหา" ซึ่งเป็นเหตุปัจจัย (สมุทัย) ให้เกิดทุกข์ทั้งปวง......ก็จะไม่สามารถที่จะละโลภะความยินดีพอใจติดข้องได้เลย

"โลภะ"  เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นอกุศลธรรม เป็นเจตสิก....."โลภเจตสิก" มีลักษณะเป็นสภาพเพลิดเพลิน ยินดี พอใจ  ปรารถนา ติดข้อง ต้องการ.....อารมณ์ทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจ (โลภะ)  แม้ลมหายใจก็ยังเป็นที่ตั้งของโลภะได้....ลมหายใจเป็นโผฎฐัพพารมณ์ (การสัมผัสในจมูก ช่องจมูกหรือเบื้องบนริมฝีปาก เช่นเดียวกับการสัมผัสทางกาย) อารมณ์ที่ปรากฏเมื่อสัมผัสในช่องจมูก ก็เช่นเดียวกับการสัมผัสที่ส่วนอื่น ๆ ทางกาย  แล่วมีความปรารถนา ความต้องการที่จะให้จิตสงบ......จึงมีการรจดจ้องที่ลมหายใจ....ซึ่งขณะนั้น "โลภะ" เกิดแล้ว  แต่สติไม่ได้ระลึกรู้สภาวะธรรมที่ปรากฏ ก็ผ่านไปด้วยความไม่รู้ (อวิชชา)

รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัสทางกาย (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว) และความคิดนึก เป็นอารมณ์ของโลภะทั้งสิ้น.....เมื่อไม่เข้าใจตามความเป็นจริง  จะพยายามไม่ให้ "โลภะ" เกิด  ขณะที่มีความต้องการขณะนั้น "โลภะ" ได้เกิดขึ้นแล้ว.....ถ้าไม่เห็นไม่รู้จักตัวโลภะ  ก็จะไม่สามารถที่จะละโลภะได้เลย....การเห็นโลภะนี้ต้องเห็นด้วย "ปัญญา" จริง ๆ และต้องละตามลำดับขั้น....ต้องถึงขั้น "พระอรหันต์" จึงจะละ "โลภะ" ได้หมดสิ้น

ก่อนอื่นต้องละทิฎฐิ (ความเห็นผิด) ที่ยึดถือสภาวะธรรมสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นของเที่ยง เป็นตัวตน เป็นสัตว์   เป็นบุคคล เป็นเราในขณะที่เห็น  ที่ได้ยิน  ที่ได้กลิ่น  ที่ลิ้มรส  รู้เย็น  รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหวและรู้ความคิดนึก.....ควรเห็นโทษของโลภะหรือความติดข้องยึดถือ.......ควรมีความเข้าใจว่า  "ขณะใดยังมีโลภะอยู่" เพื่อที่ว่าขณะนั้นปัญญาจะทำหน้าที่ค่อย ๆ  คลายความติดข้อง ความยึดถือในสภาวะธรรมที่ปรากฏว่าไม่ใช่ "เรา" ซึ่งเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน เป็นชีวิตจริง ๆ  แต่ปัญญาไม่รู้ตามความเป็นจริง....ดังนั้นจึงควรอบรมปัญญา ให้มีขึ้นให้เจริญขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย ด้วยการฟังพระธรรม ด้วยการพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

สำหรับท่านผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลภะอย่างละเอียดกว่านี้  ก็ค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมเองนะคะ เพื่อความเข้าใจมาก ๆ ยิ่งขึ้น

หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย......ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

เจตสิกคืออะไร


 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจธรรมะทุกท่าน

วันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง "นามธรรม" อีกครั้งหนึ่งนะคะ เพื่อความมั่นคงในความเข้าใจถูกต้องของสิ่งที่เคยได้ศึกษามาแล้ว ในบทความก่อน ๆ........"ธรรมะ" เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่มีจริงที่สามารถพิสูจน์ได้  เป็นสิ่งที่เกิดกับเราอยู่ตลอดเวลา  แต่เราไม่รู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ เพราะมีอวิชชา (ความไม่รู้) ปิดบังความจริงไว้  ดังนั้นจึงควรสะสมความรู้เพื่อละความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย เพื่อเป็นปัญญาของตนเอง

สภาพธรรมะที่เป็นนามธรรมนี้  มีอยู่ ๒ อย่าง คือ จิตและเจตสิก  วันนี้ก็จะขอนำเรื่อง "เจตสิก" มาเล่ากันอีกครั้ง เพื่อความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญญาขั้นพื้นฐาน ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในศึกษาระดับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ คำว่า "เจตสิก" นี้อาจจะเป็นคำใหม่  สำหรับผู้ที่เพิ่งจะเริ่มฟังหรือเริ่มศึกษาพระธรรม

เจตสิก เป็นนามธรรม หมายถึงสภาพธรรมะที่เกิดกับจิต อยู่กับจิต ดับพร้อมกับจิต ไม่แยกจากจิตเลย
ส่วนจิตเป็นนามธรรม หมายถึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ทำไมจิตจึงมีหลายประเภท.....เพราะเหตุว่า มีเจตสิกหลายอย่างเกิดกับจิต  จึงทำให้จิตแตกต่างกันหลายประเภท  "จิต" มีจำนวนถึง ๘๙ ประเภทหรือดวง  ถ้าแยกประเภทแบบพิศดารมีจำนวน ๑๒๑ ดวง...... "เจตสิก" มีทั้งหมด ๕๒ ดวง....ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จิตมีลักษณะต่าง ๆ  ตามการปรุงแต่งของเจตสิกประเภทต่าง ๆ เช่น โลภเป็นเจตสิก โกรธเป็นเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิต....จิตเป็นเพียงนามธรรมหรือสภาพรู้ธาตุรู้เท่านั้น  จิตจะไม่โกรธ จิตจะไม่โลภ จิตจะไม่จำ จิตไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้นเลย....เช่น ขณะที่เห็นขณะนี้  จิตเห็นทำหน้าที่เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏทางตาแล้วก็ดับ  ที่เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ไม่ใช่จิต แต่เป็น "สัญญาเจตสิก" เกิดกับจิต ทำหน้าที่จำสิ่งที่จิตเห็น.....จิตที่คิดเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ใช่จิตเห็น  แต่ว่าแม้ไม่เห็น จิตก็สามารถคิดอะไรได้  เพราะเหตุว่า มีเจตสิกเป็นสภาพธรรมะที่ปรุงแต่งจิต

ดังนั้นจะเห็นว่า สภาวะธรรมใดก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นต้องมีธรรมะอื่นเกิดร่วมด้วยเสมอ ปรุงแต่งจิต ทำให้จิตมีลักษณะแตกต่างกันมากมาย ทำให้จิตสามารถรู้ได้ละเอียดรู้แจ้งในอารมณ์ที่มาปรากฏกับจิต

สำหรับเรื่องจิตและเจตสิกก็ได้เขียนบรรยายมาเพื่อเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานเท่านั้น  อยากรู้มากกว่านี้ก็ไปค้นคว้าเพิ่มเติมได้จ๊ะ

หากข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่่ะ

วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อริยทรัพย์คืออะไร





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในธรรมะทุกท่าน

ท่านสะสมอริยทรัพย์แล้วหรือยัง....ถ้าหากว่ายังไม่ได้สะสมเลย....วันนี้ท่านเป็นผู้โชคดีมาก ๆ ที่จะได้รู้จักกับ "อริยทรัพย์"....ควรศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน  แล้วจึงนำไปปฏิบัติ....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า อริยทรัพย์ คือ  ทรัพย์อันประเสริฐ มี ๗ ประการ.....ผู้ใดมีอริยทรัพย์ ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่จน เมื่อสิ้นจากความเป็นมนุษย์แล้ว จะมีที่ไปคือ สุคติภูมิ ย่อมเป็นผู้ไม่ตกไปสู่ที่ลำบาก ไม่ประสบกับความอดอยาก

อริยทรัพย์ ๗ ประการ ได้แก่

๑. ศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง โดยชอบ เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นผู้จำแนกธรรมทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม

๒. ศีล คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์, เว้นจากการลักทรัพย์, เว้นจากการผิดในกาม, เว้นจากการพูดปด, เว้นจากการดื่มสุราเมรัย

๓. หิริ คือ เป็นผู้มีความละอายต่อการกระทำทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ความละอายต่อการกระทำอันเป็นอกุศลกรรมทั้งปวง

๔. โอตตัปปะ คือ เป็นผู้มีความสะดุ้งเกรงกลัว ต่อการกระทำทุจริต ทางกาย ทางวาจา ทางใจ สะดุ้งเกรงกลัวต่อการกระทำ อันเป็นอกุศลกรรมทั้งปวง

๕. สุตะ คือ พหูสูต เป็นผู้ที่ได้สดับ (ฟัง) มาก ทรงไว้ขึ้นใจ สามารถแทงตลอด ด้วยความเข้าใจ ด้วยความเห็นถูกตรง (สัมมาทิฎฐิ) ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะทั้งหลาย

๖. จาคะ คือ เป็นผู้มีจิตเป็นกุศล ไม่มีความตระหนี่ ยินดีในการสละเพื่อประโยชน์สุข ของผู้อื่นและส่วนรวม
ยินดีในการให้ทานและการจำแนกทานทั้งหลาย

๗. ปัญญา คือ เป็นผู้มีความเข้าใจตามความจริงของรูปธรรมนามธรรม  กำหนดรู้การเกิดดับของรูปธรรมนามธรรมตามความเป็นจริง จนสามารถประหารกิเลสเป็นสมุจเฉท บรรลุธรรมเป็นอริยบุคคล

อริยทรัพย์ ๗ ประการนี้ มีแก่บุคคลใด.... บุคคลนั้นได้ชื่อว่า "เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตไม่ไร้ประโยชน์"  ดังนั้นปุถุชนผู้หวังสุคติภูมิ หรือบรรลุพระธรรมขั้นอริยบุคคล.....จึงควรน้อมนำพระธรรมอัน ได้แก่ "อริยทรัพย์ ๗ ประการ" นี้ มาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อประโยชน์สุขในโลกนี้และโลกหน้าเถิด 

หากข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย.......ขออนุโมทนาบุญกับผู้อ่านทุกท่าน

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขันติและขันติบารมี

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้มีขันติทุกท่าน

ในชีวิตประจำของคนเรานี้....ถ้าขาดขันติเมื่อใด รับรองได้ว่าหาความสุขมิได้เลย....ขันติหรือความอดทนก็มีตั้งแต่ขั้น ขันติธรรมดาและขันติบารมี อันเป็นคุณธรรมที่สำคัญประการหนึ่ง ที่จะทำให้ถึงฝั่งพระนิพพาน

แต่ละท่านมีการสะสมอุปนิสัยมาไม่เหมือนกัน จึงมีการกระทำ ทางกาย ทางวาจาซึ่งแสดงออกมาแตกต่างกันไป ในทางกุศลบ้าง และในทางอกุศลบ้าง อันเป็นเหตุให้พอใจหรือไม่พอใจแก่บุคคลอื่นได้....ขันติเท่านั้นที่จะช่วยให้เรา อยู่ในสังคมร่วมกันได้อย่างสันติสุข

ขันติ....หมายถึง การรักษาปกติภาวะของตนไว้ได้ ไม่ว่าจะกระทบกับสิ่งอันเป็นที่ปรารถนา หรือสิ่งอันไม่เป็นที่ปรารถนา.....ขันติ หมายถึง ความอดทนและหนักแน่น....ลักษณะของความอดทนอดกลั้นก็คือ  อดทนต่อการกระทำความดี....อดทนต่อการไม่กระทำความชั่ว.....อดทนต่อการรักษาจิตไม่ให้เศร้าหมอง....อดทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ เช่น อากาศร้อน อากาศหนาวและฝน....อดทนต่อความทุกข์กาย เช่น การเจ็บป่วย ปวด เมื่อย.....อดทนต่อความทุกข์ทางใจ.....อดทนอดกลั้นต่อความโกรธ.....อดทนอดกลั้นต่อความไม่พอใจ......และอดทนอดกลั้นต่อกิเลสทั้งหลาย

ขันติ....เป็นตบะอย่างยิ่ง คืออดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ที่มากระทบ.....ขันติ เป็นคุณธรรมฝ่ายกุศล....ขันติ เป็นเสมือนอาวุธ ไม่เบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อน......ขันติ เป็นเสมือนสายน้ำกำจัดไฟคือความโกรธ.....ขันติ เป็นเสมือนบันไดสู่เทวโลกและพรหมโลก...ขันติ เป็นบานประตูปิดอบายภูมิ

ขันติบารมี.....คือ ความอดทนอดกลั้น เป็นโสภณธรรม (ธรรมฝ่ายดี) ควรอบรมด้วยความเข้าใจตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะที่ปรากฏขณะนี้...เพราะเหตุว่ามี "ปัญญา" จึงมีความอดทนต่ออารมณ์ที่มากระทบ
เช่น อดทนต่อคำดูหมิ่นเหยียดหยามจากบุคคลอื่น...ผู้มีปัญญาย่อมอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์และการกระทำที่ไม่ดีของผู้อื่น....ผู้มีปัญญาย่อมไม่โกรธตอบผู้อื่น  อันเป็นปัจจัยทำให้ "ขันติบารมี" เจริญยิ่งขึ้น....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสรรเสริญ "ขันติ" เป็นคุณธรรมอย่างยิ่ง...ขอทุกท่านจงเป็นผู้เจริญขันติบารมียิ่ง ๆ ขึ้นนะคะ

หากข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยค่ะ

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เมตตาและเมตตาบารมี



 


ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้มีเมตตาจิตทุกท่าน

ขณะนี้ท่านกำลังโกรธใครอยู่หรือปล่าวคะ....ผู้ใดไม่โกรธตอบผู้โกรธอยู่  ผู้นั้นชื่อว่า "ชนะสงคราม".....ผู้ใดโกรธตอบผู้โกรธอยู่   ผู้นั้นชื่อว่า "มีจิตลามก" พุทธพจน์

ขณะใดที่โกรธ (โทสะ) ขณะนั้นไม่มีเมตตา...."เมตตา"  คือ ความไม่โกรธ (อโทสะ) ที่มีต่อผู้อื่น ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน มีไมตรี หวังดี ปรารถนาดี คิดที่จะช่วยเหลือ เกื้อกูล อุปถัมภ์ เอ็นดู ไม่เบียดเบียนทำร้าย ให้ประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นเพื่อนที่ดีต่อทุกคน ไม่จำกัดและแบ่งแยก ซึ่งเป็นลักษณะของ "เพื่อนแท้" เป็นสภาพธรรมะชนิดหนึ่ง...เราจะสังเกตได้ว่า เมื่อใดที่เรามีความปรารถดีและหวังดีต่อผู้อื่น เมื่อนั้นมีสภาพธรรมะชนิดหนึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่ "หวังดีปรารถนาดี"

เมตตาบารมี...คำว่า "บารมี" คือ การสร้างกุศล (ความดี) เพื่อขัดเกลาอกุศลธรรม ซึ่งตามปกติเราไม่รู้ตัวเอง ว่ายังเป็นผู้มีอกุศลจิตมากแค่ไหน เช่น โลภะ (ความยินดี พอใจ ติดข้อง ต้องการ ยึดถือ)...โทสะ (โกรธ ขัดเตืองใจ หยาบกระด้าง ขุ่นมัว)...มานะ (ความสำคัญตน)....อิสสา (ความริษยา)....มัจฉริยะ (ความตระหนี่)....อกุศลเหล่านี้ จะลดลงเบาลง คลายลง ก็ต่อเมื่อเราได้อบรมเจริญเมตตา ให้เกิดขึ้นมีขึ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  จนมีกำลังถึงขั้นเป็น "เมตตาบารมี"....เป็นความหวังดี ปรารถนาดีช่วยเหลือ เกื้อกูล ไม่เลือกและแบ่งแยกบุคคล ชาติกำเนิด ฐานะ และไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ

จะอบรมเจริญเมตตาบารมีได้อย่างไร...การอบรมเจริญเมตตาบารมีนั้น จะต้องเริ่มจากคนใกล้ ๆ ตัวเราก่อน เช่น บิดามารดา ญาติพี่น้อง คนในครอบครัว เพื่อนสนิท คนอื่น คนแปลกหน้า  ต้องทำได้กับทุกคน จึงจะเป็นเมตตาบารมี...ขณะมีเมตตาต้องไม่มีความสำคัญตน (มานะ)....ต้องไม่ขุ่นเคืองใจ เพราะเหตุว่า เมตตาเป็นเครื่องมือบำบัดความอาฆาตพยาบาท....เมตตาต้องเป็นไปเพื่อการเกื้อกูล...ต้องไม่ประกอบด้วย "โลภะ" (ความติดข้อง) และไม่หวังผลตอบแทน....ทำได้เสมอเหมือน "มารดาทำกับบุตร"

เมตตาอบรมเจริญให้มีได้ ด้วยความเข้าใจถูกต้อง...ด้วยสติขั้นต้น ตามระลึกรู้ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ อยู่เรื่อย ๆ.....ค่อย ๆ อบรมให้มีมากขึ้น จนเป็นเมตตาท่ี่มั่นคง จนเป็น "เมตตาบารมี" .....พิจารณาเนื่อง ๆ ขณะที่กำลัง "กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด" เป็นกุศลหรืออกุศล ....ขณะกำลัง "พูด" เป็นกุศลหรืออกุศล...พิจารณาเนื่อง ๆ ขณะที่กำลัง "คิด" เป็นไปในกุศลหรืออกุศล....ขณะที่กำลัง "โกรธ" ให้พิจารณาเห็นโทษของ "โทสะ" ว่ากำลังทำร้ายผู้โกรธอยู่....เมตตายังศีลให้สมบูรณ์ด้วย เพราะเหตุว่าประกอบด้วยความจริงใจ

เมื่อเมตตาเกิดก็ระลึกรู้ว่าเป็นเพียง "สภาพธรรมะ" หรือ "นามธรรม" ชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ไม่ใช่ "เรา" ...เมตตาเกิดขึ้นเองไม่ได้ เพราะว่าเป็นธรรมะ...ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา...ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด...ขอทุกท่านจงเป็นผู้เปี่ยมด้วย "เมตตาบารมี"เถิด...ไว้พบกันอีกในบทความต่อไปจ๊ะ

หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขอนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยค่ะ


วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กุศลกับอกุศล




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

ชีวิตคนเรานี้แสนสั้นมากเพียงแค่ขณะจิตเดียวเท่านั้น เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสืบต่อทุกขณะ รวดเร็วมาก...โลกที่สว่างก็มีเพียงน้อยนิด คือโลกทางตา เราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยจิตเห็น (จักขุวิญญาณ) ซึ่งเกิดที่ตา....ส่วนทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั้นเป็นโลกที่มืดสนิท.....แต่โลกทางใจไม่มืดสนิทมีความพิเศษคือ  สามารถเห็นได้เหมือนเห็นจริง ๆ เรียกว่า "เห็นด้วยจิต" ตัวอย่างเช่น  รูปที่มาปรากฏให้ตาเห็น  ดับไปตั้งนานแล้ว แต่ทางใจ..จิตยังนึกเห็นรูปนั้นเหมือนกับว่ารูปนั้นยังคงอยู่   เสียงที่ปรากฏให้หูได้ยิน ดับไปตั้งนานแล้ว แต่ทางใจ จิตยังคงเหมือนได้ยินเสียงนั้นอยู่  ทางทวารอื่น ๆ ก็นัยเดียวกัน

การปรากฏของรูปธรรม อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ติง ไหว) และนามธรรม ได้แก่ จิตเจตสิก ทางทวารทั้ง ๖ นี้... เป็นธรรมะเป็นธรรมชาติที่มีความไม่เที่ยง (อนิจจัง)...เพราะความไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ (ทุกขัง)....ธรรมะไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของใคร (อนัตตา)....ลักษณะธรรมชาติ ๓ อย่างนี้ เรียกว่า พระไตรลักษณ์...ทุกชีวิตตกอยู่ภายใต้ของกฎแห่งธรรมชาติหรือกฏไตรลักษณ์....ยกเว้นพระอรหันต์ท่านอยู่เหนือกฎธรรมชาตินี้  เพราะเหตุว่าท่านได้ประหารอนุสัยกิเลสจนเป็นสมุจเฉทแล้ว สิ้นภพชาติแล้ว

ชีวิตในแต่ละวันเป็นไป กับความเพลิดเพลินยินดีพอใจติดข้องใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  เมื่อสติไม่ตามระลึกรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อนั้นอกุศลจิตเกิด...เป็นความทุกข์ก็ดับไปเป็นธรรมดา  เมื่อใดมีสติ เมื่อนั้นจิตเป็นกุศลจิตเป็นสุข

อกุศลเป็นเหมือน "ศัตรู" ก็หมายถึงอกุศลจิตของเรานั่นเอง...เราควรระวังไม่ให้อกุศลจิตเกิดขึ้น  ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่ากุศลจิตและอกุศลจิตแตกต่างกันอย่างไร  ถ้าไม่เข้าใจในพระธรรมก็อาจทำให้เราหลง ไปยึดเอาศัตรูมาเป็นมิตรได้ คือหลงยินดีพอใจชื่นชมกับศัตรู  ก็หมายถึง "โลภะ" ความยินดีพอใจติดข้องต้องการ อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่รู้จักพอ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้ แท้จริงแล้ว "โลภะ" เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวง 

ทำไมจิตจึงมีทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต....การที่จิตบางครั้งเป็นกุศลจิตและบางครั้งเป็นอกุศลจิตนั้น....เพราะเหตุว่ามีธรรมะประเภทหนึ่งชื่อว่า "เจตสิก" เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต ดับกับจิต ประกอบกับจิตไม่แยกจากจิตเลย รู้อารมณ์เดียวกับจิต..... เป็นธรรมะปรุงแต่งจิต (สังขารธรรม)ให้เป็นไปในทางกุศลและอกุศล....เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ดวง (รายละเอียดไว้คราวต่อไป)

เรื่องกุศลและอกุศลนี้เป็นธรรมะที่ควรศึกษาเพื่อน้อมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้ไม่หลงชื่นชมยินดียึดเอา "ศัตรู" (อกุศล) มาเป็นมิตรอีกต่อไปนะคะ

หากข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขอโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ.....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จิตคืออะไร



ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย          
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ เป็นประธาน ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ" ใจกับจิตมีความหมายเดียวกัน คือเป็น สภาพรู้ ธาตุรู้ รู้ความจริงในโลก ได้แก่ โลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ...เป็นสภาพธรรมทีรู้สี  รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้การกระทบสัมผัส เย็นร้อน อ่อน แข็ง ติง ไหว และรู้ความคิดนึก....สภาพธรรมหรือนามรู้ที่ เรียกว่า จิต

จิต นี้เกิดดับตลอดเวลาตั้งแต่เราเกิดจนตาย  แต่เราไม่เคยรู้ลักษณะของจิตเลย เพราะเหตุว่า จิตเกิดดับรวดเร็วมาก  จะสามารถรู้การเกิดดับของจิตได้นั้น ก็ด้วยนามธรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเจตสิก มีชื่อว่า "สติ" ทำหน้าที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ....ไม่ใช่ "เรา" เป็นผู้รู้ แต่เป็นสติระลึกรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏในแต่ละขณะ

จิตเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ...เมื่อจิตเกิดขึ้นจะต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้....อารมณ์คือสิ่งที่มาให้จิตรู้ หรือสภาพธรรมที่ปรากฏให้จิตรู้...หรืออีกความหมายหนึ่งคือ "อารมณ์เป็นอาหารของจิต" ....จิตเสวยอารมณ์ที่น่ายินดีพอใจ (โลภะ) และเสวยอารมณ์ที่ไม่น่ายินดีพอใจ (โทสะ)...เป็นเหตุปัจจัย
ให้เกิดความสุขทางใจ (โสมนัส) บ้าง และเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความทุกข์ (โทมนัส) บ้าง

จิตมีทั้งหมด ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง (พิเศษ) จิตแบ่งออกเป็นหลายดวงเพราะเหตุว่า มีหน้าที่แตกต่างกัน
และมีชื่อเรียกแตกต่างกัน เช่น

จิตเกิดทางตา....ทำหน้าที่เห็น เรียกว่า   จักขุวิญญาณ
จิตเกิดทางหู....ทำหน้าที่ได้ยินเรียกว่า   โสตวิญญาณ
จิตเกิดทางจมูก....ทำหน้าที่ได้กลิ่น เรียกว่า  ฆานวิญญาณ
จิตเกิดทางลิ้น....ทำหน้าที่รู้รส เรียกว่า   ชิวหาวิญญาณ
จิตเกิดทางกาย....ทำหน้าที่รู้กระทบสัมผัส เรียกว่า กายวิญญาณ 
จิตเกิดทางใจ....ทำหน้าที่รู้ความคิดนึก เรียกว่า มโนวิญญาณ

จิตเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง เกิดดับพร้อมกันและรู้อารมณ์เดียวกัน....เจตสิกมีหลายประเภทจึงทำให้จิตเป็นไปในกุศลและอกุศลตามแต่เหตุปัจจัย

สำหรับความรู้เกี่ยวกับเรื่องจิตอย่างย่อ ๆ เป็นการสะสมความเข้าใจเพื่อเป็นปัจจัยในการเจริญปัญญาในขั้นต่อ ๆ ไป

หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย...ขออนุโมทนาบุญกับท่านผู้อ่านด้วยค่ะ

วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

วิริยะและวิริยะบารมี




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในพระธรรม

ท่านเคยทราบไหมว่า...ตนเองมีความเพียรในสิ่งใดบ้าง...เพียรในกุศลหรือเพียรในอกุศล  ส่วนใหญ่แล้วในชีวิตประจำวัน  เราจะเพียรในอกุศลธรรม  เพราะเหตุว่า "สติ" ไม่เกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฎตามความเป็นจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ว่าไม่ใช่เรา... ..กูศลก็มีหลายระดับ คือกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาและกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง "วิริยะ" หมายถึงความเพียร ความขยัน มีลักษณะสภาพธรรมคือเป็น "เจตสิก" หมายถึงนามธรรมชนิดหนึ่งเกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต วิริยะ... เกิดขึ้นทำหน้าที่เพียร ๆ ที่จะให้กุศุลเกิดขึ้น...ไม่ใช่เราอยากที่ทำความเพียร วิริยะเจตสิกเป็นธรรมะ เป็นอนัตตาบังคับให้เกิดไม่ได้...เมื่อมีเหตุปัจจัยให้เกิดจึงเกิด ขณะเพียรระวัง...ขณะที่สภาพธรรมเกิดปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ  เช่น ขณะที่มีสีปรากฏทางตา..."จิตเห็น" เกิดขึ้น สติระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา..เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นให้จิตรู้...เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย... เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ในขณะนั้นก็จะมีวิริยะเจตสิกเกิดร่วมกับจิตด้วย ทำหน้าที่เพียรระลึก...จะเห็นได้ว่า วิริยะเป็นสภาพธรรมที่ทำหน้าที่เพียรอุปถัมภ์ ประคองและค้ำจุนธรรมะทั้งงหลาย ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล  ถ้าหากว่า "สติ" ไม่เกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรม ที่ปรากฏขณะนั้น  อกุศลธรรมย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา จิตก็จะมีลักษณะเศร้าหมองไม่ผ่องใสเป็นทุกข์

วิริยะหมายถึงความเพียร หรือมีชื่อว่า "อินทรีย์" เพราะเหตุว่าครองความเป็นใหญ่ในความขยัน ในความเพียร เป็น "วิริยินทรีย์" เป็นธรรมะที่อุปถัมภ์ค้ำจุนและประคองไว้ซึ่ง "กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เสื่อมไป" และ "วิริยะ" มีลักษณะที่เป็นความอุสาหะนั้น อุปถัมภ์ร่วมกับธรรมะทั้งหลาย...ความเพียรที่ตั้งไว้โดยชอบ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยแห่งความสำเร็จกิจทั้งปวง

วิริยะบารมี หมายถึง ความเพียรในการสะสมความดีที่เป็นบารมี คือจะต้องเป็นไปในกุศลของผู้มีปัญญา ที่ต้องการจะออกจากกองทุกข์ทั้งปวง...ต้องการที่จะหลุดพ้นจากวัฎฎะ ไม่ใช่เป็นความเพียรธรรมดาทั่ว ๆไป...ถ้าจะให้เป็นวิริยะขั้น "บารมี" ก็จะต้องประกอบด้วย "ปัญญา" คือ ปัญญาเห็นโทษของกิเลส เห็นโทษของการเวียนว่ายอยู่สังสารวัฎฎ์...เพียรเจริญกุศลเพื่อเป็นไปในการดับภพชาติ...วิริยะเป็นคุณธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรรเสริญคุณธรรมหนึ่ง...ขอทุกท่านจงเป็นผู้มีความเพียร ที่เป็นไปเพื่อกุศลธรรมทั้งปวงเถิด

หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด อันเกิดจากความด้อยปัญญาของผู้เขียน ก็ขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรม จากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี่ด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยค่ะ

วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สติสัมปชัญญะเกิดได้อย่างไร




ขอนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ในธรรมะทุกท่าน

ชีวิตคนเรานี้แสนสั้นมาก... อดีตก็ผ่านไปแล้ว ไม่หวนกลับคืนมาอีก เราไม่ควรที่จะตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ด้วยความอาลัย...อนาคตก็ยังมาไม่ถึง จึงไม่ควรนึกถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง....สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ขณะนี้เดี๋ยวนี้ มีโลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ  กำลังปรากฏอยู่...เรารู้ตามความเป็นจริงและรู้ชัดในสิ่งที่ปรากฏแล้วหรือยัง  ถ้ายังไม่รู้ก็ควรที่จะเริ่มศึกษาให้เข้าใจ เพื่อละ "ความไม่รู้" (อวิชชา)

สติ คือนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นเจตสิก เป็นโสภณธรรม (ธรรมฝ่ายดีงาม) เกิดกับกุศลจิต...สติทำหน้าที่ระลึกรูู้ "รูปธรรม" และ "นามธรรม" ที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ตามปกติ... "สติ" จะเกิดกับสภาพธรรมที่เป็นกุศลเท่านั้น  เมื่อใดที่สติระลึกรู้ตามความเป็นจริงของ สภาพธรรมที่ปรากฏ  ขณะนั้นจิตเป็นกุศล...สติเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ทุกสถานที่ ไม่มีกาลเวลาจำกัด สติเกิดขึ้นระลึกรู้เป็นปกติ แต่เราไม่เคยรู้จักสติเลย เพราะเหตุว่าวันหนึ่ง ๆ จิตสะสมแต่อกุศลธรรม สติจึงไม่เกิด 

ตามปกติในชีวิตประจำวัน ทุกคนก็มีสติระลึกในสิ่งที่ตนกระทำ ในคำที่พูด การระลึกรู้อย่างนี้ใคร ๆ ก็ รู้ได้ แต่ก็ยังไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ  ที่ปรากฏขณะนี้  สติที่ระลึกรู้ถูกต้อง รู้ตรงตามความเป็นจริงของ "นามและรูป" นี้เรียกว่า "สัมมาสติ"

สัมมาสติ...เป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลสทั้งหลาย ขณะที่สติเกิด...อกุศลธรรมทั้งหลายจะเกิดกับจิตไม่ได้ เพราะเหตุว่า "จิต" เกิดได้ทีละขณะเท่านั้น เมื่อใดที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ขณะนี้ตามความเป็นจริงว่า "เป็นเพียงสิ่งที่มาปรากฏให้จิตรู้เพราะมีเหตุปัจจัย" แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่เรา  การรู้เช่นนี้เรียกว่า "สติสัมปชัญญะ"

สติมีหลายระดับ เช่น สติในขั้นทาน (ระลึกในการให้ทาน)...สติในขั้นรักษาศีล (ระลึกในการงดเว้นการกระทำทุจริต)...สติขั้นเจริญความสงบของจิต (ระลึกที่จะมีเมตตาต่อบุคคลอื่น)...สติขั้นเจริญอบรมปัญญา (ระลึกรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปราฏขณะนี้ ว่าไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่ใช่เรา)

สติจะเกิดได้อย่างไร...สติเกิดได้ด้วยการฟังธรรมจากสัตบุรุษ ศึกษาธรรม และสนทนาธรรมตามกาล เพื่อเป็นการสะสมความเข้าใจเป็นสติปัญญาในขั้นฟัง และเพื่อเป็นปัจจัยในเกิดสติสัมปชัญญะตามระดับขั้น จนถึงในขั้นวิปัสสนา

ท่านผู้ใดต้องการที่จะศึกษาให้ละเอียดและเข้าใจมากกว่านี้  ก็ควรเริ่มขนขวายด้วยการฟังธรรมะอยู่เนื่อง ๆ
จนมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเป็นปัญญาของตน....ขอท่านผู้อ่าน จงเป็นผู้เจริญในพระธรรมทุกท่านนะคะ

หากข้อความใดมีความผิดพลาดประการใด อันเกิดจากความด้อยปัญญาของผู้เขียน ก็ขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้สนใจในธรรมะทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านด้วยค่ะ

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภาระจริง ๆ ของชีวิต คืออะไร

ขอนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ศรัทธาในธรรมะทุกท่าน

ทุกท่านก็มีภาระหน้าที่การงานในชีวิตแตกต่างกันไป แล้วแต่เหตุปัจจัย... ภาระ ที่แบกกันอยู่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ใช่ภาระจริง ๆ ของชีวิต ท่านทราบมั้ยค่ะ..ว่า "ภาระจริง ๆ ของชีวิตคืออะไร" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า "ภารา หเว ปัญจักขันธา" แปลว่า ขันธ์ ๕ เป็นภาระหนัก   "ภารหาโร จ ปุคคโล" แปลว่า ใครถือไปเป็นทุกข์


ภาระ ก็คืออุปาทานขันธ์ ๕ ยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็น "ตัวเรา"...ได้แก่ รูปูปาทานขันธ์  เวทะนูปาทานขันธ์  สัญญูปาทานขันธ์  สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์  ทั้งหมดนี้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น... ขันธ์ ๕ คือสภาพธรรม เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่มีจริง เกิดดับตลอดเวลา ไม่เที่ยง เพราะความไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์  ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนัตตา

เราเป็นผู้แบก "ภาระ" เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง  ชีวิตในแต่ละวันไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕  เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส  รู้สิ่งที่มากระทบสัมผัส และนึกคิด กุศลและอกุศล เหล่านี้เป็นขันธ์ทั้งหมด  ถ้า "สติ"
ไม่เกิดขึ้น ระลึกรู้สิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ ตามความเป็นจริงขณะนั้นจิตเป็น "อกุศลจิต" เพราะเหตุว่า อวิชชาคือความไม่รู้(โมหะ) เป็นเหตุปัจจัย จึงยึดถือด้วยความติดข้อง (โลภะ) ว่าเป็น "เรา"  เมื่อมี "เรา" ก็จะต้องมีทุกข์เสมอ เพราะขันธ์ ๕ เป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง
ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้

ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ทั้งหมดนี้เป็นที่ยึดถือของ "ตัณหา"  ภาระขันธ์ ๕ ..เราต้้องบริหารขันธ์ให้ถูกต้อง เพื่อความเป็นไปแห่งการดับทุกข์  ต้องบริหารร่างกายและรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักอนามัย  การเดิน การยืน การนั่ง การนอน อิริยาบถน้อยใหญ่ต่าง ๆ  ก็ต้องอยู่ในความสำรวม  นี่ก็ล้วนแต่เป็นภาระในชีวิตประจำวัน  จิตหรือนามธรรมสภาพรู้ธาตุรู้ ก็เช่นกัน ก็จะต้องมีการฟังธรรม ศึกษาธรรม การอบรมเจริญกุศลเนื่อง ๆ เพื่อสะสมความเข้าใจ เพื่อละความเห็นผิด เป็นปัญญาให้เกิดขึ้นมีขึ้น 

นี่แหละคือภาระจริง ๆ ของชีวิตในชีวิตประจำวันท่ี่ควรทราบ  ควรศึกษาให้เข้าใจในสิ่งที่มีจริง ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ตามความเป็นจริง  สรุปแล้วขันธ์ ๕ ก็คือ ธรรมะ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ การศึกษาธรรมะทำให้เรารู้จักตัวเราตามความเป็นจริง ท่านผู้อ่านก็คงจะพอเข้าใจแล้วนะคะว่า ภาระของท่านจริง ๆ คืออะไร


สำหรับบทความนี้  ฉันคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์พอสมควร สำหรับท่านผู้สนใจธรรมะทุกท่านนะคะ
หากว่ามีข้อความใดขาดตกบกพร่อง ด้วยความด้อยปัญญาของผู้เขียน ก็ขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ณ ที่นี้ด้วย

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เรื่อง "ศรัทธา"




ขอนอมน้อมต่อพระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้มีความศรัทธาในธรรมะทุกท่าน

วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "ศรัทธา" กันนะคะ...ตลอดชีวิตของเรานี้ ก็คืือธรรมะทั้งหมด เราไม่ต้องไปแสวงหาธรรมะที่ไหนเลย  "ธรรมะ" ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ ซึ่งสามารถรู้ได้ตามความเป็นจริงในขณะนี้  แต่เราไม่สามารถรู้และบอกได้ตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่ายังมี "ความไม่รู้" (อวิชชา) ห่อหุ้มจิตอยู่  ดังนั้นก็ต้องอาศัย การฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงความจริงของธรรมะ เพื่อให้ฟังจนเกิด "ความศรัทธา" รู้จักคุณค่า รู้ประโยชน์ของการฟัง และการเข้าใจพระธรรม อันเป็นเหตุปัจจัยให้สามารถเห็นพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

"ศรัทธา" เป็นนามธรรม เป็นโสภณธรรม (ธรรมะฝ่ายดี) เป็น "เจตสิก" เกิดร่วมกับจิตดับพร้อมกับจิตและมีอารมณ์เดียวกับจิต  ศรัทธา...คือความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย กรรม ผลของกรรม (วิบากกรรม)
ความเชื่อในพระธรรม ในกุศล (ความดี) ซึ่งปรุงแต่งจิตเจตสิก ให้ผ่องใสสะอาด  ศรัทธา...ข่มนิวรณ์ (เครื่องกั้นการทำความดี) ระงับกิเลสได้และทำจิตให้ผ่องใสสะอาด

ตัวอย่างของศรัทธา เช่น ขณะมีการให้ทานแก่บุคคลอื่น จะเป็นบิดามารดา ญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หรือบุคคลแปลกหน้าก็ตาม ขณะนั้นผู้ให้มีจิตไม่คิดอกุศลต่อผู้รับ เห็นแก่ประโยชน์สุขของผู้รับ ไม่เห็นแก่ตัวและไม่่ติดข้องเสียดายของที่ให้ มีเมตตา กรุณาต่อผู้รับ ขณะนั้นจิตมี "ศรัทธาเจตสิก" เกิดร่วมด้วย จิตจึงมีสภาพผ่องใสสะอาด

"ศรัทธา" จะเจริญขึ้นได้ จนเป็นศรัทธาระดับเป็นใหญ่เป็นอินทรีย์ ซึ่งเรียกว่า "สัทธินทรีย์" นั้น ต้องรู้ลักษณะธรรมตามความเป็นจริง เพราะมีการกระทบสัมผัสตลอดทั้งวัน ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ มีความเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง ว่าสิ่งทั้งหลายที่มาปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ขณะนั้นจิตผ่องใสจากความไม่รู้  ศรัทธา...มีตั้งแต่ระดับขั้นทาน จนถึงขั้นสูงสุด จิตผ่องใสอย่างยิ่ง เป็น "โลกุตตรศรัทธา" คือไม่มีความสงสัยในคุณพระรัตนตรัย จนถึงความหมดสิ้นสังสารวัฎฎ์

ศรัทธา...เป็นเพื่อนสอง ขณะมีการฟังธรรม ขณะนั้นศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมกับจิต เป็นเหตุปัจจัยให้จิตมีสภาพผ่องใสสะอาด เราเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ด้วยศรัทธา เพราะเป็นผลของ "กามาวจรกุศล" หรือเรียกอีกอย่างว่า "มหากุศล" คือกุศลที่เกิดจากการกระทำ ที่เป็นไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  ที่ว่าศรัทธาเป็นเพื่อนสอง เพราะเหตุว่าเกิดร่วมกับจิต ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศล ขณะใดศรัทธาไม่เกิด  ขณะนั้น "โลภะ" ก็จะเป็นเพื่อนสองแทน มาคอยกระซิบให้ทำอกุศล ทำให้จิตเศร้าหมองเป็นทุกข์  ส่วน "ศรัทธา" จะเกิดขณะไหนนั้น เราไม่สามารถทราบได้ เพราะเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียด

ฉะนั้นเราจึงควรหมั่นฟังพระธรรม เพื่อสะสมความเข้าใจและเพื่อละความไม่รู้ หลงยึดติดข้องในธรรมะทั้งหลายว่าเป็น "เรา" เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล ที่ทุกข์อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเหตุว่ามี "เรา" เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ทั้งปวงนั่นเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า " ขันธ์ ๕" เป็นทุกข์ ยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็นตัวเราก็เลยต้องทุกข์...สำหรับบทความวันนี้ก็จบไว้แค่นี้ก่อน แล้วพบกันอีกในวันต่อไปจ๊ะ

หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด อันเกิดจากความด้อยปัญญาของผู้เขียน ขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย