หน้าเว็บ

วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

กรรมและผลของกรรม







ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

ชีวิตของแต่ละคนในแต่ละวัน  ซึ่งอาจจะประสบกับความสุขบ้างและความทุกข์บ้าง  ซึ่งเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย......จึงควรที่จะทราบไว้ว่า  ต้องมีเหตุปัจจัยที่ได้กระทำมาแล้วในแต่อดีต  ไม่สามารถทราบได้ว่า....."กุศลกรรมและอกุศลกรรม" ที่ได้กระทำไว้แล้วนั้น  "ผลของกรรม" จะส่งผลในขณะใด เมื่อใด  เพราะเหตุว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยที่ควรจะให้ผลเกิด ผลก็จะเกิดขึ้น  โดยที่ไม่มีผู้ใดบังคับหรือยับยั้งได้ตามต้องการ....แม้แต่บุคคลผู้ได้สะสมบุญกุศล  จนสามารถที่จะบรรลุพระธรรมเป็นพระอรหันต์  ก็ยังไม่สามารถที่จะหนีพ้นจาก "ผลของกรรม" ที่ได้กระทำไว้แล้วแต่ในอดีต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า " ไม่ว่าในอากาศ  ไม่ว่าในกลางทะเล  ไม่ว่าจะเข้าไปสู่ระหว่างภูเขา  ย่อมไม่มีภูมิประเทศที่สัตว์สถิตอยู่แล้ว  จะพึงพ้นไปจากบาปกรรมได้ "

"กรรม"  เป็นนามธรรม  ได้แก่  "เจตนาเจตสิก"  ทำให้  "วิบากจิตและรูป" เกิดขึ้น (วิบากจิต ได้แก่  จิตเห็น, จิตได้ยิน, จิตรู้กลิ่น, จิตลิ้มรส, จิตรู้เย็น, จิตรู้ร้อน, จิตรู้อ่อน, จิตรู้แข็ง, จิตรู้ไหว, จิตรู้ตึง)......จิตเห็นสิ่งที่ไม่ดีทางตา เป็นอกุศลวิบาก...จิตได้ยินเสียงไม่เป็นที่น่าฟัง เป็นอกุศลวิบาก....จิตได้กลิ่นที่ไม่น่าปรารถนา เป็นอกุศลวิบาก....จิตลิ้มรสสิ่งที่ไม่ปรารถนา  เป็นอกุศลวิบาก.....จิตรู้กระทบสัมผัสทางกาย เย็นร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง ไม่เป็นที่พอใจ เป็นอกุศลวิบาก....ในทำนองตรงข้าม....จิตเห็นสิ่งที่ดีทางตา  เป็นกุศลวิบาก....จิตได้ยินเสียงที่ดีทางหู  เป็นกุศลวิบาก....ทางทวารอื่น ๆ  ก็นัยเดียวกัน

โดยทั่ว ๆ ไปทุกท่านก็มักจะนึกถึง  หรือเห็นผลของกรรม (วิบาก) เฉพาะแต่ที่เป็น "รูป"......ซึ่งแท้ที่จริงแล้วผลของกรรมเป็นสภาพธรรมที่เป็น "นามธรรม"  คือ จิตและเจตสิก นั้นมีด้วย.....แต่ส่วนมากท่านจะนึกถึงในด้านวัตถุต่าง ๆ  นึกถึงรูปร่าง หน้าตา  ผิวพรรณและโภคทรัพย์เป็นผลของกุศลกรรม......ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมท่านก็จะนึกถึงความวิบัติของรูปร่าง หน้าตา  ผิวพรรณและโภคทรัพย์.....แต่ไม่ทราบตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะ ซึ่งเป็นผลของกรรมว่าเป็น "นามธรรม" ด้วย คือ  "จิตและเจตสิกเป็นวิบากจิต"

สำหรับบทความนี้ เป็นเพียงแค่สังเขป....หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ปรมัตถธรรมคืออะไร




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในพระธรรม

ปรมัตถธรรม  คือ สภาพธรรมทั้งหลายที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล...เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะแต่ละอย่าง ๆ ไม่มีใครที่จะไปเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นได้ ไม่ว่าผู้ใดจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม....ใครจะเรียกสภาพธรรมนั้น ๆ ด้วยคำต่าง ๆ หรือภาษาต่าง ๆ หรือจะไม่เรียกสภาพธรรมนั้น ๆ ด้วยคำใดก็ตาม....สภาพธรรมนั้นก็ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลย....สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ท่านพระอานนท์ว่า "สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา"

ความไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมะที่ปรากฏ....จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด จึงยึดถือสภาพธรรมะที่เกิดดับว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล...ย่อมทำให้เกิดความยินดีพอใจ ติดข้องต้องการ หลงยึดติดใน ลาภ ยศ สรรเสริญ เกียรติ ชาติ วงศ์ตระกูล วรรณะ เป็นต้น....ความจริงนั้น สิ่งที่มองเห็นเป็นเพียงสีต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล....สภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นก็เพราะเหตุว่ามีปัจจัยแตกต่างกัน

ปรมัตถธรรมมี ๔ ประเภท....ได้แก่ จิต เจตสิก  รูป  นิพพาน

จิต....เป็นนามธรรม...เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ.....จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้  เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ไหว รู้ตึง และรู้ความคิดนึก.....ทั้งหมดนี้เป็น "จิต" ทำหน้าที่ต่าง ๆ จิตมีทั้งหมด ๘๙ ดวง (๑๒๑ ดวงโดยพิศดาร)

เจตสิก....เป็นนามธรรม....เป็นสภาพธรรมประเภทหนึ่งเกิดร่วมกับจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต เกิดที่เดียวกับจิต ไม่แยกจากจิต.....เจตสิกแต่ละดวง มีลักษณะและกิจการงานแตกต่างกันตามประเภทของเจตสิกนั้น ๆ  เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท

รูป.....เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้....รูปไม่รู้อะไร ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล  เช่น  สี เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย.....รูปมีทั้งหมด ๒๘ ประเภท

นิพพาน....เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์....นิพพานไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น...นิพพานจึงไม่มีการเกิดดับ

ปรมัตถธรรมคือสภาพธรรมที่มีจริง เป็น "อภิธรรม" เป็นธรรมที่เป็น "อนัตตา" ไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของใคร....เป็นสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย....ธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล....ปรมัตถธรรมหรืออภิธรรมเป็นธรรมที่มีจริง....ฉะนั้น  จึงต้องมีความเห็นถูกและความเข้าใจถูกต้อง จึงจะเป็นการรู้ตามความเป็นจริงของปรมัตถธรรม ตามสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมนั้น ๆ

หากข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากผู้อ่านทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย......ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

จะคลายความติดข้องได้อย่างไร



ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ในธรรมะทุกท่าน

ท่านทราบไหมว่า....เราทุกคนเดินทางไม่หยุดในสังสารวัฏฏ์และยังจะต้องเดินทางต่อไปอีก เพราะเหตุว่า เราทั้งหลายยังมีความยินดีพอใจติดข้องอยู่ในกาม  ยินดีพอใจติดข้องในขันธ์ ๕  ยินดีพอใจติดข้องในของไร้สาระ.....คนเราแสวงหาอาหารของทุกข์....แสวงหาโดยรอบ คือทางตา ทางหู  ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ........แสวงหาโดยไม่มีการหยุดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ......แสวงหาอาหารของทุกข์ในสังสารวัฏฏ์......ทำให้สังสารวัฏฏ์ต้องยืดยาวนานออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด.....ถ้าไม่รู้จักลักษณะอาหารของทุกข์  ได้แก่ "โลภะหรือตัณหา" ซึ่งเป็นเหตุปัจจัย (สมุทัย) ให้เกิดทุกข์ทั้งปวง......ก็จะไม่สามารถที่จะละโลภะความยินดีพอใจติดข้องได้เลย

"โลภะ"  เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นอกุศลธรรม เป็นเจตสิก....."โลภเจตสิก" มีลักษณะเป็นสภาพเพลิดเพลิน ยินดี พอใจ  ปรารถนา ติดข้อง ต้องการ.....อารมณ์ทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจ (โลภะ)  แม้ลมหายใจก็ยังเป็นที่ตั้งของโลภะได้....ลมหายใจเป็นโผฎฐัพพารมณ์ (การสัมผัสในจมูก ช่องจมูกหรือเบื้องบนริมฝีปาก เช่นเดียวกับการสัมผัสทางกาย) อารมณ์ที่ปรากฏเมื่อสัมผัสในช่องจมูก ก็เช่นเดียวกับการสัมผัสที่ส่วนอื่น ๆ ทางกาย  แล่วมีความปรารถนา ความต้องการที่จะให้จิตสงบ......จึงมีการรจดจ้องที่ลมหายใจ....ซึ่งขณะนั้น "โลภะ" เกิดแล้ว  แต่สติไม่ได้ระลึกรู้สภาวะธรรมที่ปรากฏ ก็ผ่านไปด้วยความไม่รู้ (อวิชชา)

รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัสทางกาย (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว) และความคิดนึก เป็นอารมณ์ของโลภะทั้งสิ้น.....เมื่อไม่เข้าใจตามความเป็นจริง  จะพยายามไม่ให้ "โลภะ" เกิด  ขณะที่มีความต้องการขณะนั้น "โลภะ" ได้เกิดขึ้นแล้ว.....ถ้าไม่เห็นไม่รู้จักตัวโลภะ  ก็จะไม่สามารถที่จะละโลภะได้เลย....การเห็นโลภะนี้ต้องเห็นด้วย "ปัญญา" จริง ๆ และต้องละตามลำดับขั้น....ต้องถึงขั้น "พระอรหันต์" จึงจะละ "โลภะ" ได้หมดสิ้น

ก่อนอื่นต้องละทิฎฐิ (ความเห็นผิด) ที่ยึดถือสภาวะธรรมสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นของเที่ยง เป็นตัวตน เป็นสัตว์   เป็นบุคคล เป็นเราในขณะที่เห็น  ที่ได้ยิน  ที่ได้กลิ่น  ที่ลิ้มรส  รู้เย็น  รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหวและรู้ความคิดนึก.....ควรเห็นโทษของโลภะหรือความติดข้องยึดถือ.......ควรมีความเข้าใจว่า  "ขณะใดยังมีโลภะอยู่" เพื่อที่ว่าขณะนั้นปัญญาจะทำหน้าที่ค่อย ๆ  คลายความติดข้อง ความยึดถือในสภาวะธรรมที่ปรากฏว่าไม่ใช่ "เรา" ซึ่งเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน เป็นชีวิตจริง ๆ  แต่ปัญญาไม่รู้ตามความเป็นจริง....ดังนั้นจึงควรอบรมปัญญา ให้มีขึ้นให้เจริญขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย ด้วยการฟังพระธรรม ด้วยการพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

สำหรับท่านผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลภะอย่างละเอียดกว่านี้  ก็ค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมเองนะคะ เพื่อความเข้าใจมาก ๆ ยิ่งขึ้น

หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย......ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

เจตสิกคืออะไร


 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจธรรมะทุกท่าน

วันนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง "นามธรรม" อีกครั้งหนึ่งนะคะ เพื่อความมั่นคงในความเข้าใจถูกต้องของสิ่งที่เคยได้ศึกษามาแล้ว ในบทความก่อน ๆ........"ธรรมะ" เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่มีจริงที่สามารถพิสูจน์ได้  เป็นสิ่งที่เกิดกับเราอยู่ตลอดเวลา  แต่เราไม่รู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ เพราะมีอวิชชา (ความไม่รู้) ปิดบังความจริงไว้  ดังนั้นจึงควรสะสมความรู้เพื่อละความไม่รู้ทีละเล็กทีละน้อย เพื่อเป็นปัญญาของตนเอง

สภาพธรรมะที่เป็นนามธรรมนี้  มีอยู่ ๒ อย่าง คือ จิตและเจตสิก  วันนี้ก็จะขอนำเรื่อง "เจตสิก" มาเล่ากันอีกครั้ง เพื่อความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญญาขั้นพื้นฐาน ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจในศึกษาระดับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ คำว่า "เจตสิก" นี้อาจจะเป็นคำใหม่  สำหรับผู้ที่เพิ่งจะเริ่มฟังหรือเริ่มศึกษาพระธรรม

เจตสิก เป็นนามธรรม หมายถึงสภาพธรรมะที่เกิดกับจิต อยู่กับจิต ดับพร้อมกับจิต ไม่แยกจากจิตเลย
ส่วนจิตเป็นนามธรรม หมายถึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ทำไมจิตจึงมีหลายประเภท.....เพราะเหตุว่า มีเจตสิกหลายอย่างเกิดกับจิต  จึงทำให้จิตแตกต่างกันหลายประเภท  "จิต" มีจำนวนถึง ๘๙ ประเภทหรือดวง  ถ้าแยกประเภทแบบพิศดารมีจำนวน ๑๒๑ ดวง...... "เจตสิก" มีทั้งหมด ๕๒ ดวง....ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จิตมีลักษณะต่าง ๆ  ตามการปรุงแต่งของเจตสิกประเภทต่าง ๆ เช่น โลภเป็นเจตสิก โกรธเป็นเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิต....จิตเป็นเพียงนามธรรมหรือสภาพรู้ธาตุรู้เท่านั้น  จิตจะไม่โกรธ จิตจะไม่โลภ จิตจะไม่จำ จิตไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้นเลย....เช่น ขณะที่เห็นขณะนี้  จิตเห็นทำหน้าที่เห็นสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏทางตาแล้วก็ดับ  ที่เห็นเป็นคนนั้นคนนี้ไม่ใช่จิต แต่เป็น "สัญญาเจตสิก" เกิดกับจิต ทำหน้าที่จำสิ่งที่จิตเห็น.....จิตที่คิดเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ใช่จิตเห็น  แต่ว่าแม้ไม่เห็น จิตก็สามารถคิดอะไรได้  เพราะเหตุว่า มีเจตสิกเป็นสภาพธรรมะที่ปรุงแต่งจิต

ดังนั้นจะเห็นว่า สภาวะธรรมใดก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นต้องมีธรรมะอื่นเกิดร่วมด้วยเสมอ ปรุงแต่งจิต ทำให้จิตมีลักษณะแตกต่างกันมากมาย ทำให้จิตสามารถรู้ได้ละเอียดรู้แจ้งในอารมณ์ที่มาปรากฏกับจิต

สำหรับเรื่องจิตและเจตสิกก็ได้เขียนบรรยายมาเพื่อเป็นความรู้ขั้นพื้นฐานเท่านั้น  อยากรู้มากกว่านี้ก็ไปค้นคว้าเพิ่มเติมได้จ๊ะ

หากข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่่ะ