หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พรปีใหม่แด่...ทุกท่าน

ส.ค.ส.ปี พ.ศ.๒๕๕๕
Merry Christmas and Happy New Year




                                            
                                            สวัสดีปีใหม่
                                    ขออำนาจคุณพระรัตนตรัย
                                    อำนวยชัยแด่ทุกท่านวันปีใหม่
                                    จงประสบสุขสมหวังดังใจ
                                    กอร์ปกิจใดขอให้เจริญไกล
                                    ขอแม่กวนอิมพระโพธิสัตว์
                                    ช่วยขจัดทุกข์โศกแลโรคภัย
                                    สิ่งเลวร้ายทั้งหลายจงหายไป
                                    ขอสิ่งใดดีจงมีแด่ท่านเทอญ
                                           .............
                                    

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

การเห็นประโยชน์ของศีล





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ใฝ่ใจในธรรมทุกท่าน

เรื่องเกี่ยวกับการถือศีล  การรักษาศีลและการมีศีลนั้น  ก็จะต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของศีลก่อน  จะต้องเป็นผู้เห็นโทษของการมีความประพฤติทางกายไม่ดี  และเป็นผู้มีวาจาไม่ดี  แล้วจึงจะมีการเพียรที่จะเห็นประโยชน์ของการรักษาศีล คือ เว้นจากการฆ่า การทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่น.....เว้นจากการละเมิดสิ่งของ ๆ ผู้อื่นที่ไม่ได้ให้......เว้นจากการล่วงเกินภรรยา สามี หรือลูกของผู้อื่น.....  เว้นจากการพูดคำหยาบคาย  คำพูดที่ไม่จริง มุสาวาท  คำพูดส่อเสียดและคำพูดที่ไร้สาระ เพ้อเจ้อ......เว้นจากการดื่มสุราและเสพของมึนเมา.....ขณะใดที่วิรตีเจตสิกเกิดขึ้น ก็จะทำหน้าที่วิรัติ (งดเว้น) จากการประพฤติไม่ดีทางกายและทางวาจา  การที่มีวิรัติทุจริตทางกายและทางวาจา  ก็เพราะเหตุว่าเห็นประโยชน์ของศีล  ไม่ใช่เพื่อคำสรรเสริญเยินยอจากบุคคลอื่น

ศีลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยเหตุ ๔ ประการดังนี้
โดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ๑
โดยการสมาทาน ๑
โดยการก้าวล่วง ๑
โดยการกระทำให้เป็นปรกติ เมื่อมีการก้าวล่วง ๑

๑.โดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย.....บุคคลบางท่านมีตนเป็นใหญ่  เพราะเหตุว่ามีอัธยาศัยบริสุทธิ์ รังเกียจบาป ยังหิริให้ปรากฏภายในจิต  แล้วมีสมาจาร (ความประพฤติ)บริสุทธิ์ด้วยดี

๒.ศีลบริสุทธิ์โดยการสมาทาน.....บุคคลบางท่านเมื่อมีการสมาทาน  ถือโลกเป็นใหญ่ มีความสะดุ้งต่อบาป ยังโอตัปปะให้ปรากฏแก่จิต  เป็นผู้มีสมาจาร (ความประพฤติ) บริสุทธิ์ด้วยดี

๓.ศีลบริสุทธิ์โดยการก้าวล่วง.....บุคคลมีศีลบริสุทธิ์เพราะไม่ล่วงแม้ทั้ง ๒ อย่าง คือ ทางกายและทางวาจา

๔.ศีลบริสุทธิ์โดยทำให้เป็นปรกติ เมื่อมีการก้าวล่วง.....บางครั้งหลงลืมสติไป  ศีลก็พึงขาดไปเป็นต้น  ก็มีการกระทำศีลที่ขาดไปนั้น ให้เป็นปรกติโดยเร็ว  ด้วยการอยู่กรรมเป็นต้น  เพื่อความถึงพร้อมแห่งหิริโอตตัปปะ  ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

อรรถ (ความหมาย) ของศีลหรือสีลน แปลความหมายได้หลายอย่างดังนี้....
อรรถที่ว่าสีลน   เพราะเป็นมูลราก คือเป็นเบื้องต้นของกุศล
อรรถที่ว่าสีลน   เพราะรวบรวม  คือไม่กระจัดกระจาย  หมายเอากรรมในทวาร ๖  มีกายกรรมและวจีกรรมเป็นต้น
อรรถที่ว่าสีลน   เพราะเป็นที่รองรับ  คือรองรับกุศลเบื้องสูง
อรรถที่ว่าสีลน   เพราะเป็นที่ตั้งมั่นด้วยดี  เป็นที่ตั้งมั่นของกุศลที่เป็นเบื้องสูง

อานิสงส์ของศีล
๑. เป็นผู้ไม่เสื่อมจากโภคะ
๒. เป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศจขรขจายไปไกล ด้วยอำนาจแห่งคุณความดี
๓. เป็นผู้ไม่เก้อเขินเมื่อเข้าสู่บริษัท
๔. เป็นผู้ไม่หลงกระทำกาลกิริยา
๕. เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว  ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาพระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ภัยของชีวิต




นะโมตัสสะ ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ
 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

การที่สัตว์โลกทั้งหลายต้องมีการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏฏ์  ก็ด้วยเหตุว่ายังมีกิเลสและอกุศลจิตอยู่มากมาย ยังมีความผูกพันยึดติดในการให้และการรับอยู่มาก อันเป็นปรกติในชีวิตประจำวันของมนุษย์ความผูกพันยึดติดในการให้และการรับเป็นอกุศลจิต  อันเป็นเหตุให้เกิดภัยต่าง ๆ ของชีวิต  เช่น ภัยคือการเกิด  ภัยคือความแก่  ภัยคือความเจ็บไข้  ภัยคือความตาย.... เมื่อมีการเกิด (ชาติ) ก็จะต้องมีการแก่ (ชรา)....เมื่อมีการแก่ก็จะต้องมีความเจ็บป่วยไข้ (พยาธิ).....เมื่อมีการเจ็บป่วยไข้ก็จะต้องมีการตาย (มรณะ)  เหล่านี้ล้วนแต่เป็นภัยต่อชีวิต......นอกจากนั้นยังมีภัยอื่น ๆ อีก เช่น ราชภัย โจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย  วาตภัย....ภัยคืออาชญา  ภัยคือทุคติ  ภัยคือการติเตียนตน  ภัยคือการติเตียนผู้อื่น และภัยอื่น ๆ อีกมากมายที่เกิดจากธรรมชาติบ้าง และภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์บ้าง

"ภัย" คือการติเตียนตน เป็นภัยที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าอกุศลมีมากมาย  การกระทำอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่อกุศลที่เกิดกับจิต  ผู้ที่มีสติระลึกรู้อยู่เนือง ๆ ก็จะรู้ได้ว่า "อกุศล" เป็นสภาพธรรมะที่น่ารังเกียจมาก จึงเกิด "หิริ" คือความรังเกียจในอกุศลธรรมนั้น และเกิด "โอตตัปปะ" คือความเห็นโทษเห็นภัยของอกุศลต่าง ๆ  ดังนั้นจึงควรเพียรติเตียนตนเสมอ ๆ แม้เพียงอกุศลเล็กน้อยที่เกิดกับจิต  นอกจากนั้นยังมีภัยที่เกิดจากการติเตียนผู้อื่น ทำให้เกิดภัยร้ายแรงได้ เช่น อาชญาภัย  และยังมีภัยที่สำคัญมากคือทุคติภัย ซึ่งได้แก่ อบายภูมิ ๔  ได้แก่ นรก  อสุรกาย เปรต สัตว์เดรัจฉาน  ถึงแม้ว่าไม่มีใครปรารถนาอบายภูมิ  แต่ถ้าประกอบอกุศลกรรมอยู่เนือง ๆ  อันเป็นเหตุปัจจัยแก่อบายภูมิ  ก็จะต้องปฏิสนธิในอบายภูมิหรือทุคติภูมิได้  แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็จะทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้  ก็เป็นเรื่องภัยของชีวิต  ซึ่งเกิดจากกิเลสและอกุศลกรรมต่าง ๆ  ถ้าท่านใดพิจารณาตนเองอยู่บ่อย ๆ มาก ๆ  ก็ย่อมจะยิ่งมีโอกาสขัดเกลากิเลสที่ละเอียดมากขึ้น  เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรละเลยที่จะศึกษาพิจารณา ไตร่ตรองพระธรรมเทียบเคียงด้วย  เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรม อย่าเพียงแต่ฟังหรืออ่านแล้วเชื่อโดยขาดเหตุผล  ควรที่จะเทียบเคียงพิสูจน์พิจารณา อ้างอิงพร้อมทั้งเหตุผลด้วย จะได้ไม่เกิดภัยแก่ชีวิตเพิ่มขึ้น

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความตอนใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย......ขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ


วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

อารมณ์หมายถึงอะไร





 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

คำว่า "อารมณ์" หมายถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้  หรือสิ่งที่ถูกจิตรู้  เช่น  สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตาให้จิตเห็นเกิดขึ้น  สิ่งต่าง ๆ นั้นก็เป็นอารมณ์ของจิตเห็นขณะนั้น...เสียงปรากฏทางหู  เกิดจิตกำลังได้ยินเสียง  เสียงเป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น....กลิ่นปรากฏทางจมูก  เกิดจิตกำลังรู้กลิ่น  กลิ่นเป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น.....รสปรากฏที่ลิ้น เกิดจิตกำลังลิ้มรส  รสก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น....การกระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึงปรากฏทางกาย  เกิดจิตกำลังรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง  และเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง ก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น....เรื่องราวต่าง ๆ ที่จิตกำลังนึกคิด เรื่องราวต่าง ๆ  ก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น  เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิต  ก็จะต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้ทุกครั้งไป  จิตจะเกิดขึ้นโดยปราศจากสิ่งที่ถูกรู้ (อารมณ์)ไม่ได้เลย....เมื่อมีจิตเกิดขึ้นขณะใด  ขณะนั้นจะต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้ด้วย 

"จิต" เป็นสภาพธรรมะที่สามารถรู้ได้ทุกอย่าง..... สิ่งใดมีจริง เช่น รูป จิต เจตสิก นิพพาน จิตสามารถรู้ได้จิตสามารถรู้ได้ทั้งปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม....จิตเป็นปรมัตถธรรม เป็นธาตุรู้สภาพรู้  ไม่ว่าจะเป็นจิตของคนหรือจิตของสัตว์เดรัจฉาน  ก็เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้เหมือนกันหมด  และเมื่อจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้เสมอ....จิตเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารต่าง ๆ   จิตเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่ามีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น  ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยให้จิตเกิด  จิตก็จะเกิดไม่ได้เลย  เช่น ถ้ารูปไม่เกิดขึ้นกระทบตา (จักขุปสาทรูป)  จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย....ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้นกระทบหู (โสตปสาทรูป)  จิตได้ยิน (โสตวิญญาณ) ก็จะเกิดไม่ได้เลย....ถ้าไม่มีกลิ่นกระทบที่จมูก (ฆานปสาทรูป) จิตรู้กลิ่น (ฆานวิญญาณ) ก็จะเกิดไม่ได้เลยเช่นกัน....ถ้ารสไม่เกิดขึ้นกระทบลิ้น (ชิวหาปสาทรูป)  จิตรู้รส (ชิวหาวิญญาณ) จะเกิดไม่ได้เลย....ถ้าไม่มีการกระทบสัมผัสทางกาย (กายปสาทรูป) เกิดขึ้น จิตรู้สัมผัส (กายวิญญาณ) เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึงก็จะเกิดไม่ได้เลย....จิตที่เกิดแต่ละประเภทนั้น  จะต้องมีเหตุปัจจัยหลายปัจจัย ที่จะทำให้จิตประเภทนั้น ๆ เกิดขึ้นได้....จิตมีทั้งหมด ๘๙ ประเภทหรือดวง (พิเศษ ๑๒๑ ประเภทหรือดวง) ...."อารมณ์" ก็เป็นปัจจัยประเภทหนึ่งที่ทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น  เรียกว่า อารัมณปัจจัย

สำหรับบทความนี้ก็เป็นเพียงขั้นพื้นฐานเท่านั้น  หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนต้องขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ