หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปรมัตถธรรม บัญญัติธรรม สมมติธรรม





 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

ปรมัตถธรรม หมายถึงสิ่งที่มีจริง ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ขณะใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูป ขณะนั้นเป็นสมมติ

บัญญัติ หมายถึง คำหรือชื่อซึ่งใช้ เพื่อที่จะเรียกชื่อสิ่งที่มี หรือสิ่งที่ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จริงหรือไม่จริง เช่น คำว่า "เวทนา" เป็นบัญญัติ เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกที่มีจริง ๆ  "เวทนา" เป็นสภาพรู้สึก ดีใจ เสียใจหรือเฉย ๆ เวทนาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าบัญญัติบางคำก็หมายถึงสิ่งที่ไม่มีจริง บัญญัติแม้ว่าจะไม่มีโดยปรมัตถ์ แต่ก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะหนึ่ง ๆ  (จิตตุปาทะ) หรือเป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดขึ้น ได้แก่ทำอาการหรือมีสัณฐานเป็นต้น ให้เป็นเหตุกล่าวกัน เรียกกันให้รู้ความหมายกัน
จึงเรียกว่า "บัญญัติ" เช่น ธาตุดินก็เป็นเพียงอ่อนหรือแข็ง แต่ก็เรียกโดยสัณฐานรูปร่างลักษณะว่าเป็น จานบ้าง ชามบ้าง ช้อนบ้าง ส้อมบ้าง แม้ว่าคำบัญญัติเรียก จาน ชาม ช้อน ส้อม ไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ไม่มีลักษณะเป็นปรมัตถ์แท้ ๆ ต่างหากจากธาตุดิน แต่ก็เป็นเงาอรรถ คือให้รู้ถึงความหมายของสิ่งที่ให้เข้าใจในขณะนั้น โดยเทียบเคียงหรือเปรียบเทียบ ได้แก่ทำอาการ มีสัณฐานเป็นต้น ให้เป็นเหตุกล่าวกัน ธาตุดินมีจริง แต่ว่าถ้วย ชาม จาน ช้อน ส้อมเป็นบัญญัติ เพื่อให้รู้อรรถของสัณฐาน ซึ่งเหมือนเงาของปรมัตถ์ เพราะเหตุว่าเป็นสัณฐานที่ทำให้สามารถรู้ว่าหมายถึงอะไร

นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยเสียง ซึ่งเป็นบัญญัติให้รู้ความหมายของสิ่งที่ยึดถือ หรือสมมติกันว่าอะไร ทุกคนมีตาเห็นสิ่งต่าง ๆ ยึดถือสัณฐานของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่าง ๆ รู้ในอรรถของสิ่งที่สมมติ  สัตว์เดรัจฉานก็เห็น แต่ผู้ที่เป็นมนุษย์สามารถที่จะใช้เสียง เรียกสิ่งที่สมมติขึ้น ให้เข้าใจว่าหมายถึงสิ่งอะไร ในขณะที่สัตว์เดรัจฉานไม่มีความสามารถพอที่จะใช้เสียงได้อย่างมนุษย์ ที่จะบัญญัติได้อย่างละเอียด เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะเข้าใจสภาพธรรมชนิดหนึ่ง คือ เสียงหรือสัทธรูป เมื่อมีการพูด มีการใช้เสียง จึงต้องใช้เสียงสำหรับบัญญัติเรียกสิ่งต่าง ๆ เสียงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าไม่มีเสียง นามหรือชื่อต่าง ๆ หรือคำทั้งหลายเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ก็จะมีไม่ได้ เราติดในบัญญัติทั้งหลาย คือ "ชื่อ" ซึ่งเรียกกันว่า สมมติ เพราะฉะนั้น บัญญัติก็คือ ชื่อซึ่งเรียกสิ่งสมมติหรือปรมัตถธรรม เพื่อให้เข้าใจความหมายนั่นเอง

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย แ และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จิตอาศัยรูปเกิด






 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ศรัทธาในธรรมทุกท่าน

ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปเกิดไม่ได้เลย ตั้งแต่เริ่มแรกเกิดในครรภ์มารดา รูปจะเล็กมาก และในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็จะมีกลุ่มรูปซึ่งเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพราะว่าเป็นกลุ่มของรูปที่เพิ่งเกิด กลุ่มของรูป ภาษาบาลีเรียกว่า "กลาป" (กะ-ลา-ปะ) มี ๓ กลาป ซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต.....กลุ่ม ๑ เป็นกลุ่มของ กายปสาทรูป.... อีกกลุ่ม ๑ เป็นกลุ่มของ ภาวะรูป..... และอีกกลุ่ม ๑ เป็นกลุ่มที่เกิดของ จิต ชื่อว่า "หทยรูป"

จิตจะเกิดนอกรูปหรือเกิดโดยไม่อาศัยรูปเกิดไม่ได้เลย ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัส และขณะที่คิดนึก จะมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตเกิดขึ้น เวลาที่เกิดใหม่ ๆ ยังไม่มีรูปร่างของหัวใจ แต่ที่เป็นหทยรูป เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่เป็นที่อาศัยเกิดของปฏิสนธิจิต เมื่อรูปร่างกายเจริญเติบโตขึ้นจนครบถ้วนสมบูรณ์ รูปที่เป็นที่เกิดของจิตซึ่งเป็นหทยรูปนั้น จะอยู่ที่กลางหัวใจ

รูปที่เป็นที่เกิดของจิต ซึ่งเป็นหทยรูปนี้ เป็นรูปที่เกิดเพราะ "กรรม"  รูปที่เป็นที่เกิดของจิตซึ่งเป็นหทยรูป ไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูปเกิดดับอย่างรวดเร็ว หทยวัตถุซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของจิตอื่น ๆ นอกจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้กระทบสัมผัสแล้ว จิตอื่นทั้งหมดเกิดที่หทยวัตถุ และหทยวัตถุนี้เกิดจากกรรม ในขณะนี้รูปกำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว และกรรมก็ทำให้รูปเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

ขณะนี้รูปใดไม่ปรากฏ แสดงว่ารูปนั้นเกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก ที่เราคิดว่ามีตัวตน ร่างกาย แขน ขา มือ เท้า แต่ตามความเป็นจริงแล้ว รูปเกิดแล้วดับเร็วมาก ฉะนั้น รูปใดแม้ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วก็ดับแล้ว

บทความนี้หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผูอ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขอนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านค่ะ


                                         ..........................................

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สภาวลักษณะของจิต







ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

สภาวะลักษณะของจิต คือ ลักษณะเฉพาะของจิต....สามัญลักษณะของจิต ได้แก่ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจลักษณะ หมายถึงลักษณะที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นั่นก็เป็นทุกข์...สภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล....ไตรลักษณ์ เป็นลักษณะที่ไม่แยกจากกัน คือจะไม่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ที่จะเกิดเพียงลักษณะเดียว

สภาวลักษณะของจิต คือลักษณะเฉพาะของจิต มี ๔ ลักษณะ

๑. อรัมมนวิชานนลักขณัง มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ

๒. ปุพพังคมรสัง คือ มีความเป็นประธาน เพราะต้องเกิดขึ้นทุกขณะ เป็นหัวหน้าเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์คือ เป็นกิจหรือหน้าที่ เช่น จิตที่เกิดทางตา (จักขุวิญญาณ) ทำหน้าที่เห็นสี...จิตที่เกิดทางหู (โสตวิญญาณ) ทำหน้าที่ได้ยิน...จิตเกิดทางจมูก (ฆานวิญญาณ) ทำหน้าที่ได้กลิ่น....จิตเกิดทางลิ้น (ชิวหาวิญญาณ) ทำหน้าที่ลิ้มรส....จิตเกิดทางกาย (กายวิญญาณ) ทำหน้าที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
จิตเกิดทางหทยวัตถุ (มโนวิญญาณ)....ทำหน้าที่รู้ความคิดนึก

๓. สันตานะปัจจุปัฏฐาน หมายถึง มีการสืบต่อเนื่อง คือ การเกิดดับสืบต่อกันเป็นปัจจุปัฏฐาน คือเป็นอาการปรากฏ

๔. นามรูปปทัฏฐานัง มีนามธรรมและรูปธรรม เป็นปฏัทฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ที่ว่าจิตมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ

สภาวลักษณะ หมายถึง ลักษณะที่มีอยู่ในตน เช่น ผัสสะ มีลักษณะกระทบอารมณ์, สัญญา มีลักษณะจำอารมณ์, สติ มีลักษณะระลึกรู้อารมณ์, จิตมีลักษณะรู้อารมณ์

ปัจจัตตลักษณะ หมายถึง ลักษณะเฉพาะตน.....สภาวลักษณะทั่วไปที่เป็นปรมัตถ์ ก็จะต้องมีลักษณะเฉพาะของตน

วิเสสะลักษณะ หมายถึง ลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ผัสสะมีลักษณะแตกต่างจากเวทนา  เวทนาก็มีลักษณะแตกต่างจากผัสสะ จิตมีลักษณะแตกต่างกับเจตสิก

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ

                                                  
                                                   ..............................

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทุกอย่างสำคัญที่ใจ






ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

ทุกอย่างเกิดขึ้นได้จริง ๆ  เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่เป็นอย่างอื่น  ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย แล้วก็ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของ ๆ สิ่งใด ๆ ได้เลย เป็นเพียงความคิดเท่านั้น

ทุกคนมีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส การกระทบสัมผัสทางกายเหมือนกันหมด แล้วหลังจากที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสทางกายแล้วทางใจก็คิด  เป็นกุศลบ้างและอกุศลบ้าง จะทุกข์ใจหรือสุขใจนั้นก็ขึ้นอยู่ที่การสะสมของแต่ละบุคคล  เพราะฉะนั้นจึงสำคัญอยู่ที่ใจ ว่ามีความเข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้หรือไม่ ถ้ามีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะสามารถคลายความหวั่นไหวลงได้บ้าง

ทุกคนมีความเสมอกันก็คือ มีตาและก็สามารถเห็นสิ่งเดียวกัน มีหูเหมือนกัน ซึ่งได้ยินเสียงเดียวกัน ขณะที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว สำคัญที่ใจขณะนั้น ถ้าไม่คิดก็ไม่เดือดร้อน คนร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล
แต่ใจเดือดร้อนมาก ทุกข์ก็เพราะใจคิด  ชีวิตดำเนินต่อไปอีกยาวนานแค่ไหนไม่อาจทราบได้ แต่ให้ทราบว่าอะไรจะเกิด ก็ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้ไม่อยากมีทุกข์ก็เลือกไม่ได้

ความทุกข์จริง ๆ นั้นมิได้อยู่ที่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ความทุกข์จริง ๆ นั้นอยู่ที่การสะสมของจิต แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมะ ความเข้าใจในขณะนั้นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคัญบัญชาของใคร ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้

ดังนั้นถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นมั่นคงขึ้น จิตก็จะไม่หวั่นไหว ขณะนั้นย่อมจะเป็นสุขมากกว่าคนที่มีความอยากเห็น  อยากได้ อยากมีทรัพย์สมบัติมาก ๆ ใจก็จะต้องหวั่นไหวด้วยความทุกข์


สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาในกศุลจิตกับทุกท่านด้วยค่ะ