หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

มโนกรรมไม่ใช่เพียงแค่คิดในใจ




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เรื่องของมโนกรรม ไม่ใช่เพียงแค่คิดอยู่ในใจ  คิดไปทั้งวัน ถ้าไม่ได้กระทำกรรมตามที่คิดก็ไม่สำเร็จ เช่น อยากจะได้ของคนอื่น แล้วก็นึกอยู่ในใจ ของนั้นก็จะมาเป็นของท่านไม่ได้เลย

มโนกรรมจะสำเร็จได้ ก็จะต้องมีการล่วงออกไปทางกาย หรือทางวาจา  แต่ว่าสำหรับการกระทำทางกายที่ไม่เป็นมโนกรรมก็มี  คือเป็นแต่เพียงกายกรรมเท่านั้น  เช่น เดินไปเห็นผลไม้หล่นอยู่ใต้ต้น เกิดความอยากได้โดยไม่คิดมาก่อน  แล้วก็หยิบเอาผลไม้นั้นไป  ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม  แต่ไม่เป็นมโนกรรม

เพราะฉะนั้น กายกรรมไม่เป็นมโนกรรม  วจีกรรมไม่เป็นมโนกรรม  ที่แสดงเรื่องของกรรม ๓  (กายกรรม  วจีกรรม  มโนกรรม) ก็เพื่อที่จะแยกให้เห็นว่า  กายกรรมไม่ใช่มโนกรรม  วจีกรรมไม่ใช่มโนกรรม

แต่สำหรับมโนกรรมที่เป็นมโนกรรม โดยคิดอยู่ในใจเฉย ๆ ไม่ได้ล่วงไปทางกาย ทางวาจานั่น  ไม่สามารถที่จะสำเร็จลงไปได้  แต่ว่าต่างกับกายกรรมและวจีกรรม  ถ้าทางมโนกรรมมีความตั้งใจเกิดขึ้นทางใจก่อน  จึงจะจัดว่าเป็นมโนกรรม

ถ้าโกรธคนหนึ่งแล้วก็คิดที่จะฆ่าคนนั้น  แล้วก็จ้างให้คนอื่นไปฆ่าคนนั้น  ขณะนั้นการฆ่าที่สำเร็จลงไปเป็นมโนกรรม  แม้ว่าเป็นปาณาติบาตซึ่งเป็นข้อของกายกรรมก็จริง  แต่กรรมนั้นสำเร็จลง เพราะมโนกรรม  ไม่ใช่เพียงกายกรรม

แต่ถ้าโกรธระงับไม่อยู่ เลยเกิดประทุษร้ายคนนั้น แล้วคนนั้นตาย  ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม  ซึ่งไม่มีความผูกพยาบาทคิดมาก่อนเลยว่า ต้องการที่จะฆ่าคนนั้น  แต่เกิดบันดาลโทสะ หรือป้องกันตัวหรืออะไรก็ตาม  แต่ซึ่งทำให้บุคคลนั้นตายไป  ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่ใช่มโนกรรม

เพราะฉะนั้น  องค์ของมโนกรรมก็ดี หรือองค์ของกายกรรม  วจีกรรมก็ดี เป็นการแสดงให้เห็นว่า  ผลที่เกิดขึ้นจากกาย จากวาจานั้น ๆ  เป็นกายกรรม หรือว่าเป็นมโนกรรม.


                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                        ...........................................











วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

ผลของกรรมมี สวรรค์และนรกมี





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอกล่าวถึง กรรมสูตรที่ ๑ ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิกาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผลของกรรมมี และนรกสวรรค์มี

ข้อความในอังคุตตรนิกาย  ทสกนิบาต  กรรมสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๙๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรม ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า  พระผู้มีพระภาคเองตรัสว่า  เราไม่รู้แล้ว  ย่อมไม่กล่าว  แต่เพราะเหตุว่า ทรงรู้ว่า  ความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้นมี

ทุกคนอาจจะคิดว่า  ในชีวิตของแต่ละท่าน วันหนึ่ง ๆ ก็ไม่ได้กระทำกรรมอะไร  แล้วทำไมสังสารวัฏถึงจะมียืดยาวออกไปอย่างไม่สิ้นสุด  ก็ดูวันนี้เหมือนกับว่าไม่ได้กระทำกรรมอะไร   แล้วจะมีเหตุปัจจัยอะไรที่จะทำให้ต้องเกิดอีก ตายอีก  เกิดอีก  ตายอีก ไม่สิ้นสุด......กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสม

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตประจำวัน  ถ้าคิดว่าไม่ได้กระทำกรรม  แต่ความจริงได้กระทำแล้ว บางอย่างเป็นกายกรรม  บางอย่างเป็นวจีกรรม  บางอย่างเป็นมโนกรรมที่ตั้งใจกระทำ  แล้วก็ไม่สูญหาย กรรมทุกกรรมที่ได้กระทำแล้ว  เกิดดับสะสมสืบต่ออยู่ในจิต  เป็นเหตุที่จะให้วิบากเกิดขึ้น  ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรม ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

ถ้าวิบากยังไม่เกิด  กรรมจะสิ้นสุดได้ไหม  เหตุมีแล้ว  ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง  ทางใจบ้าง สั่งสมไปเรื่อย ๆ  และถ้าผลคือวิบากของกรรมนั้นยังไม่เกิด จะถือว่ากรรม คือ ความตั้งใจกระทำ กายกรรมบ้าง วจีกรรมบ้างเหล่านั้นที่สั่งสมอยู่ในจิต  จะหมดสิ้นไปได้ไหม.......ในเมื่อผลยังไม่เกิดขึ้น  กรรมจะหมดสิ้นไปไม่ได้เลย......เมื่อเหตุ คือกรรมที่ได้กระทำและสั่งสมแล้ว  ทุกคนก็ต้องคอยรับวิบาก  คือ ผลของกรรมนั้น ๆ โดยไม่รู้ตัวเลย  ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก ไม่พิจารณาว่า  ได้กระทำอกุศลกรรมอะไรแล้วบ้าง  หรือว่าได้กระทำกุศลกรรมอะไรแล้วบ้าง

นี่เป็นเหตุที่ทุกท่าน จะต้องพิจารณากาย  วาจา  ใจของตนเองอย่างละเอียดจริง ๆ  เพราะเหตุว่าเป็นความตั้งใจที่กระทำกรรม ที่สั่งสมเพื่อที่จะให้วิบากเกิดขึ้น  จึงเป็นเหตุให้สังสารวัฏไม่หมดสิ้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็วิบากนั้นแล  อันสัตว์ผู้ทำ  พึงได้เสวยในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียะ) ในอัตภาพถัดไป (อุปปัชชเวทนียะ)  หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไป (อปราปรเวทนียะ)

เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะกระทำอกุศลกรรม  แล้วก็คิดว่ายังไม่ได้รับผลของอกุศลกรรม  สบายดี  พ้นเคราะห์พ้นกรรม  แต่ความจริงไม่พ้น เพราะเหตุว่าวิบากนั้นแล  อันสัตว์ผู้ทำ พึงได้เสวย คือทำให้เกิดผล ได้รับวิบากในปัจจุบัน  หรือในอัตภาพถัดไป คือในชาติหน้า หรือในอัตภาพต่อ ไป  เหมือนอย่างในชาตินี้ จะได้รับผลของอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมก็ตามแต่  เป็นผลของกรรมที่ได้สั่งสมมาแล้วในสังสารวัฏ  อาจจะเป็นกรรมในชาตินี้  หรือกรรมในชาติก่อน หรือกรรมในชาติก่อน ๆ โน้นก็ได้.


                                                    ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                      ...............................................








วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

อะไรเป็นปัจจัยให้ความสงบเกิด





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

ความสงบตามปรกติควรให้มีเป็นเชื้อเป็นทุนอยู่เรื่อย ๆ  เพื่อที่ว่าเมื่ออารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดของสมถะภาวนาปรากฏ จิตของท่านก็จะสามารถที่จะสงบและอาจจะสามารถสงบมั่นคงขึ้น  เพราะว่ามีปัจจัยในการที่เคยอบรมความสงบเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน  เมื่อปัญญารู้ลักษณะของความสงบในขณะที่กำลังจะกระทำกายหรือวาจา  ด้วยโลภะหรือด้วยอกุศลใด ๆ ก็ตาม ให้ระลึกว่าขณะนั้นสงบหรือไม่สงบเสียก่อน เพียงเท่านี้ แล้วก็จะรู้ว่า ถ้าปัญญาเกิดในขณะนั้น ก็จะรู้วิธีที่ว่า ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบแม้ในขณะนั้น  นั้นคือปัญญาที่รู้หนทางวิธีที่จะสงบ

 ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าจะสงบอย่างไร  แล้วความสงบจึงจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ  แต่ถ้าขณะนั้นปัญญาไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะความต่างกันของความสงบ  ก็จะมีความต้องการความสงบอย่างอื่นขึ้น  เช่น สนใจอยากรู้ว่า อานาปานสติเป็นยังไง  มุ่งที่จะไปหาอานาปานสติ โดยคิดว่าจะสงบโดยการไปจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ โดยไม่รู้ลักษณะที่ว่า ขณะจะฆ่าสัตว์  ขณะที่จะทำทุจริต ขณะที่เป็นอกุศลจิต  ขณะนั้นจิตจะสงบได้อย่างไร

ถ้าปัญญารู้หนทาง  ความสงบก็จะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เนื่อง ๆ  และหนทางที่จะเป็นความสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิกับอัปนาสมาธินั้น ก็แสนไกลมาก  ยากที่จะถึงได้  เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านพิจารณาตัวท่านเองว่า ตามความเป็นจริงแล้ว ท่านเป็นผู้ที่สมควรที่ฌานจิตจะเกิดไหม  ถ้าไม่สมควร  แล้วเรื่องอะไรที่จะไปพากเพียรด้วยความต้องการที่จะทำ  โดยที่ไม่สะสมเหตุปัจจัยคือความสงบเท่าที่จะมีได้ในชั่วขณะหนึ่ง ๆ   แทนอกุศลจิตซึ่งเกิดอยู่บ่อย ๆ


                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                        .........................................