วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554
วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554
การเห็นประโยชน์ของศีล
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ใจในธรรมทุกท่าน
เรื่องเกี่ยวกับการถือศีล การรักษาศีลและการมีศีลนั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณประโยชน์ของศีลก่อน จะต้องเป็นผู้เห็นโทษของการมีความประพฤติทางกายไม่ดี และเป็นผู้มีวาจาไม่ดี แล้วจึงจะมีการเพียรที่จะเห็นประโยชน์ของการรักษาศีล คือ เว้นจากการฆ่า การทำร้ายและเบียดเบียนผู้อื่น.....เว้นจากการละเมิดสิ่งของ ๆ ผู้อื่นที่ไม่ได้ให้......เว้นจากการล่วงเกินภรรยา สามี หรือลูกของผู้อื่น..... เว้นจากการพูดคำหยาบคาย คำพูดที่ไม่จริง มุสาวาท คำพูดส่อเสียดและคำพูดที่ไร้สาระ เพ้อเจ้อ......เว้นจากการดื่มสุราและเสพของมึนเมา.....ขณะใดที่วิรตีเจตสิกเกิดขึ้น ก็จะทำหน้าที่วิรัติ (งดเว้น) จากการประพฤติไม่ดีทางกายและทางวาจา การที่มีวิรัติทุจริตทางกายและทางวาจา ก็เพราะเหตุว่าเห็นประโยชน์ของศีล ไม่ใช่เพื่อคำสรรเสริญเยินยอจากบุคคลอื่น
ศีลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยเหตุ ๔ ประการดังนี้
โดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย ๑
โดยการสมาทาน ๑
โดยการก้าวล่วง ๑
โดยการกระทำให้เป็นปรกติ เมื่อมีการก้าวล่วง ๑
๑.โดยความบริสุทธิ์แห่งอัธยาศัย.....บุคคลบางท่านมีตนเป็นใหญ่ เพราะเหตุว่ามีอัธยาศัยบริสุทธิ์ รังเกียจบาป ยังหิริให้ปรากฏภายในจิต แล้วมีสมาจาร (ความประพฤติ)บริสุทธิ์ด้วยดี
๒.ศีลบริสุทธิ์โดยการสมาทาน.....บุคคลบางท่านเมื่อมีการสมาทาน ถือโลกเป็นใหญ่ มีความสะดุ้งต่อบาป ยังโอตัปปะให้ปรากฏแก่จิต เป็นผู้มีสมาจาร (ความประพฤติ) บริสุทธิ์ด้วยดี
๓.ศีลบริสุทธิ์โดยการก้าวล่วง.....บุคคลมีศีลบริสุทธิ์เพราะไม่ล่วงแม้ทั้ง ๒ อย่าง คือ ทางกายและทางวาจา
๔.ศีลบริสุทธิ์โดยทำให้เป็นปรกติ เมื่อมีการก้าวล่วง.....บางครั้งหลงลืมสติไป ศีลก็พึงขาดไปเป็นต้น ก็มีการกระทำศีลที่ขาดไปนั้น ให้เป็นปรกติโดยเร็ว ด้วยการอยู่กรรมเป็นต้น เพื่อความถึงพร้อมแห่งหิริโอตตัปปะ ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น
อรรถ (ความหมาย) ของศีลหรือสีลน แปลความหมายได้หลายอย่างดังนี้....
อรรถที่ว่าสีลน เพราะเป็นมูลราก คือเป็นเบื้องต้นของกุศล
อรรถที่ว่าสีลน เพราะรวบรวม คือไม่กระจัดกระจาย หมายเอากรรมในทวาร ๖ มีกายกรรมและวจีกรรมเป็นต้น
อรรถที่ว่าสีลน เพราะเป็นที่รองรับ คือรองรับกุศลเบื้องสูง
อรรถที่ว่าสีลน เพราะเป็นที่ตั้งมั่นด้วยดี เป็นที่ตั้งมั่นของกุศลที่เป็นเบื้องสูง
อานิสงส์ของศีล
๑. เป็นผู้ไม่เสื่อมจากโภคะ
๒. เป็นผู้มีชื่อเสียงเกียรติยศจขรขจายไปไกล ด้วยอำนาจแห่งคุณความดี
๓. เป็นผู้ไม่เก้อเขินเมื่อเข้าสู่บริษัท
๔. เป็นผู้ไม่หลงกระทำกาลกิริยา
๕. เมื่อละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมมีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาพระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ
วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554
ภัยของชีวิต
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ |
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน
การที่สัตว์โลกทั้งหลายต้องมีการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏฏ์ ก็ด้วยเหตุว่ายังมีกิเลสและอกุศลจิตอยู่มากมาย ยังมีความผูกพันยึดติดในการให้และการรับอยู่มาก อันเป็นปรกติในชีวิตประจำวันของมนุษย์ความผูกพันยึดติดในการให้และการรับเป็นอกุศลจิต อันเป็นเหตุให้เกิดภัยต่าง ๆ ของชีวิต เช่น ภัยคือการเกิด ภัยคือความแก่ ภัยคือความเจ็บไข้ ภัยคือความตาย.... เมื่อมีการเกิด (ชาติ) ก็จะต้องมีการแก่ (ชรา)....เมื่อมีการแก่ก็จะต้องมีความเจ็บป่วยไข้ (พยาธิ).....เมื่อมีการเจ็บป่วยไข้ก็จะต้องมีการตาย (มรณะ) เหล่านี้ล้วนแต่เป็นภัยต่อชีวิต......นอกจากนั้นยังมีภัยอื่น ๆ อีก เช่น ราชภัย โจรภัย อุทกภัย อัคคีภัย วาตภัย....ภัยคืออาชญา ภัยคือทุคติ ภัยคือการติเตียนตน ภัยคือการติเตียนผู้อื่น และภัยอื่น ๆ อีกมากมายที่เกิดจากธรรมชาติบ้าง และภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์บ้าง
"ภัย" คือการติเตียนตน เป็นภัยที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าอกุศลมีมากมาย การกระทำอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา หรือแม้แต่อกุศลที่เกิดกับจิต ผู้ที่มีสติระลึกรู้อยู่เนือง ๆ ก็จะรู้ได้ว่า "อกุศล" เป็นสภาพธรรมะที่น่ารังเกียจมาก จึงเกิด "หิริ" คือความรังเกียจในอกุศลธรรมนั้น และเกิด "โอตตัปปะ" คือความเห็นโทษเห็นภัยของอกุศลต่าง ๆ ดังนั้นจึงควรเพียรติเตียนตนเสมอ ๆ แม้เพียงอกุศลเล็กน้อยที่เกิดกับจิต นอกจากนั้นยังมีภัยที่เกิดจากการติเตียนผู้อื่น ทำให้เกิดภัยร้ายแรงได้ เช่น อาชญาภัย และยังมีภัยที่สำคัญมากคือทุคติภัย ซึ่งได้แก่ อบายภูมิ ๔ ได้แก่ นรก อสุรกาย เปรต สัตว์เดรัจฉาน ถึงแม้ว่าไม่มีใครปรารถนาอบายภูมิ แต่ถ้าประกอบอกุศลกรรมอยู่เนือง ๆ อันเป็นเหตุปัจจัยแก่อบายภูมิ ก็จะต้องปฏิสนธิในอบายภูมิหรือทุคติภูมิได้ แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็จะทำให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็เป็นเรื่องภัยของชีวิต ซึ่งเกิดจากกิเลสและอกุศลกรรมต่าง ๆ ถ้าท่านใดพิจารณาตนเองอยู่บ่อย ๆ มาก ๆ ก็ย่อมจะยิ่งมีโอกาสขัดเกลากิเลสที่ละเอียดมากขึ้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรละเลยที่จะศึกษาพิจารณา ไตร่ตรองพระธรรมเทียบเคียงด้วย เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรม อย่าเพียงแต่ฟังหรืออ่านแล้วเชื่อโดยขาดเหตุผล ควรที่จะเทียบเคียงพิสูจน์พิจารณา อ้างอิงพร้อมทั้งเหตุผลด้วย จะได้ไม่เกิดภัยแก่ชีวิตเพิ่มขึ้น
สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความตอนใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย......ขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ
วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554
อารมณ์หมายถึงอะไร
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน
คำว่า "อารมณ์" หมายถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ หรือสิ่งที่ถูกจิตรู้ เช่น สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตาให้จิตเห็นเกิดขึ้น สิ่งต่าง ๆ นั้นก็เป็นอารมณ์ของจิตเห็นขณะนั้น...เสียงปรากฏทางหู เกิดจิตกำลังได้ยินเสียง เสียงเป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น....กลิ่นปรากฏทางจมูก เกิดจิตกำลังรู้กลิ่น กลิ่นเป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น.....รสปรากฏที่ลิ้น เกิดจิตกำลังลิ้มรส รสก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น....การกระทบสัมผัส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึงปรากฏทางกาย เกิดจิตกำลังรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง และเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง ก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น....เรื่องราวต่าง ๆ ที่จิตกำลังนึกคิด เรื่องราวต่าง ๆ ก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิต ก็จะต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้ทุกครั้งไป จิตจะเกิดขึ้นโดยปราศจากสิ่งที่ถูกรู้ (อารมณ์)ไม่ได้เลย....เมื่อมีจิตเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นจะต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้ด้วย
"จิต" เป็นสภาพธรรมะที่สามารถรู้ได้ทุกอย่าง..... สิ่งใดมีจริง เช่น รูป จิต เจตสิก นิพพาน จิตสามารถรู้ได้จิตสามารถรู้ได้ทั้งปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม....จิตเป็นปรมัตถธรรม เป็นธาตุรู้สภาพรู้ ไม่ว่าจะเป็นจิตของคนหรือจิตของสัตว์เดรัจฉาน ก็เป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้เหมือนกันหมด และเมื่อจิตเกิดขึ้น ก็จะต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้เสมอ....จิตเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารต่าง ๆ จิตเกิดขึ้นได้ก็เพราะว่ามีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยให้จิตเกิด จิตก็จะเกิดไม่ได้เลย เช่น ถ้ารูปไม่เกิดขึ้นกระทบตา (จักขุปสาทรูป) จิตเห็น (จักขุวิญญาณ) ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย....ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้นกระทบหู (โสตปสาทรูป) จิตได้ยิน (โสตวิญญาณ) ก็จะเกิดไม่ได้เลย....ถ้าไม่มีกลิ่นกระทบที่จมูก (ฆานปสาทรูป) จิตรู้กลิ่น (ฆานวิญญาณ) ก็จะเกิดไม่ได้เลยเช่นกัน....ถ้ารสไม่เกิดขึ้นกระทบลิ้น (ชิวหาปสาทรูป) จิตรู้รส (ชิวหาวิญญาณ) จะเกิดไม่ได้เลย....ถ้าไม่มีการกระทบสัมผัสทางกาย (กายปสาทรูป) เกิดขึ้น จิตรู้สัมผัส (กายวิญญาณ) เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึงก็จะเกิดไม่ได้เลย....จิตที่เกิดแต่ละประเภทนั้น จะต้องมีเหตุปัจจัยหลายปัจจัย ที่จะทำให้จิตประเภทนั้น ๆ เกิดขึ้นได้....จิตมีทั้งหมด ๘๙ ประเภทหรือดวง (พิเศษ ๑๒๑ ประเภทหรือดวง) ...."อารมณ์" ก็เป็นปัจจัยประเภทหนึ่งที่ทำให้จิตและเจตสิกเกิดขึ้น เรียกว่า อารัมณปัจจัย
สำหรับบทความนี้ก็เป็นเพียงขั้นพื้นฐานเท่านั้น หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนต้องขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)