หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วันอาสาฬหบูชา ปี พ.ศ.๒๕๕๕





ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด้จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
  
ทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เรียกว่า "วันอาสาฬหบูชา" ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันที่ ๒ สิงหาคม

คำว่า "อาสาฬหบูชา"  เป็นภาษาบาลี มีความหมายดังนี้  "อาสาฬห" แปลว่า เดือน ๘  ทางจันทรคติ......คำว่า  "บูชา"  แปลว่า การบูชา  เมื่อรวมเป็นคำเดียวมีความหมายว่า การบูชาในเดือน ๘  หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ ของพระพุทธศาสนา

วันอาสาฬหบูชา คือ วันที่พระสมัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก  หลังตรัสรู้ได้ ๒ เดือน พระองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา โปรดพระปัญจวัคคีทั้ง ๕  ได้แก่  พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ  พระภัททิยะ  พระมหานาม  และพระอัสสชิ  ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ......ในครั้งนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุธรรมและได้ขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา  จึงถือเป็นวันสำคัญยิ่งในวันนั้น เพราะได้มีพระรัตนตรัยครอบองค์สามครั้งแรกในโลกเกิดขึ้น ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์ยิ่งใหญ่นี้ได้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีทั้ง ๕ นั้น  เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนาจบลงแล้ว  พระอัญญาโญฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม  บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุุคคลขั้นแรก คือ พระโสดาบัน และได้ขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา  การอุปสมบทในครั้งนั้น เป็นการบวชด้วยวิธี "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงประทานอุปสมบทให้ พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา และในกาลต่อมา พระวัปปะ  พระภัททิยะ  พระมหานามะ  และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบททุกท่านตามลำดับ

หัวใจสำคัญของการปฐมเทศนา มีสาระธรรมที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

๑. ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา  หมายถึงข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายได้  และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยกตัวอย่างทางที่ไม่ใช่สายกลาง หมายถึงทางสุดโต่ง ๒ ทาง ได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค กับ อัตตกิลมถานุโยค

          - กามสุขขัลลิกานุโยค  หมายถึง การหมกมุ่นหลงใหลเพลิดเพลิน มัวเมาในความสุขทางกามคุณทั้งหลาย  อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส  สิ่งกระทบสัมผัสทางกาย ซึ่งเป็นทางที่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้

         - อัตตกิลมถานุโยค หมายถึง การทรมานตน การทำตนให้ลำบาก การดำเนินชีวิตอย่างไร้จุดหมาย เช่น การบำเพ็ญตบะทรมานกายวิธีต่าง ๆ  หรืออาศัยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตเช่นนี้ ก็ไร้ประโยชน์ มีแต่ความทุกข์ไม่ใช่ทางที่จะทำให้เกิดปัญญารู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมได้  ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง

แล้วพระองค์ก็ได้ทรงแสดงทางที่ถูกต้อง ทางเพื่อความดับทุกข์ทั้งปวง โดยมีหลักในการปฏิบัติ มีองค์ประกอบ ๘ ประการ  เรียกว่า มรรค มีองค์ ๘ หรือ อริยอัฏฐังคิกมัคค์  ได้แก่

        ๑. สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ  คือ รู้และเข้าใจถูกต้อง  เห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

        ๒. สัมมาสังกัปปะ  ดำริชอบ  คือ  คิดที่จะออกจากการติดข้องในกามทั้งปวง  ไม่คิดอาฆาต     พยาบาท  ไม่คิดที่จะเบียดเบียนผู้อื่น

       ๓. สัมมาวาจา  เจรจาชอบ คือ พูดจาสุภาพ พูดแต่ความจริง ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ

      ๔. สัมมากัมนันตะ  กระทำชอบ  คือ ทำการงานที่สุจริต รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่การงาน

      ๕. สัมมาอาชีวะ  อาชีพชอบ  คือ ประกอบอาทีพที่ไม่ผิดศีล  ไม่ผิดกฏระเบียบประเพณี และไม่ผิดกฏหมาย

      ๖. สัมมาวายามะ  ความพยายามชอบ  คือ  เพียรละสิ่งอกุศล  เพียรสะสมกุศลให้เพิ่มขึ้น เพียรระวังไม่ให้อกุศลเกิด  เพียรระวังกุศลที่มีไม่ให้เสื่อมไป

     ๗. สัมมาสติ  ระลึกชอบ  คือ  เจริญสติอยู่เนื่อง ๆ ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามความเป็นจริง

    ๘. สัมมาสมาธิ  ตั้งใจมั่นชอบ  คือ  เจริญความสงบของจิตอยู่เนื่อง ๆ  จิตมีความสงบจากกิเลส


 ๒. อริยสัจ ๔  แปลว่า  ความจริงอันประเสริฐของพระอริยะ หรือบุคคลผู้ห่างไกลจากกิเลส  ได้แก่

     ๑. ทุกข์  คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์  ต้องกำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่า  ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา เป็นเพียงสภาวธรรมปรากฏให้สติระลึกรู้ตามความเป็นจริง แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา

     ๒. สมุทัย  คือ  เหตุเกิดแห่งทุกข์  ต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงก็คือตัญหา ความติดข้องต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

    ๓. นิโรธ  คือ  ความดับทุกข์ทั้งปวง วิมุตติ  เป็นโลกุตตรธรรม

    ๔. มรรค  คือ  ข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์  อันได้แก่  มรรคมีองค์ ๘

 กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา  ทุกปี ๆ เมื่อถึงวันนี้  ก็จะมีการบำเพ็ญบุญด้วยการ ทำบุญ ตักบาตร ถือศีล  เวียนเทียน  สวดมนต์ปฏิบัติธรรม เพื่อน้อมจิตระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ปฏิบัติเพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวด้วย.

                         
                                 ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

                                                  ขออนุโมทนาค่ะ


                                        ........................................