หน้าเว็บ

วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วันเข้าพรรษา ปี พ.ศ.๒๕๕๕

วันเข้าพรรษา  เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา....คำว่า "เข้าพรรษา"  แปลว่า  "พักฝน"  หมายถึง  พระภิกษุสงฆ์จะต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งในช่วงฤดูฝน  เพราะเหตุว่าในสมัยพุทธกาล พระภิกษุสงฆ์มีหน้าที่จะต้องจารืกเพื่อโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แก่ประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ  จึงไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้กระทั่งในฤดูฝน.....ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ ของชาวนาจนเสียหาย  พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด ๓ เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มต้ังแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘  ของทุกปี  เรียกว่า "ปุริมพรรษา"

กรณีที่ปีใดมีเดือน ๘ สองหน  ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา"  เว้นแต่ว่ามีกิจธุระจำเป็น และเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันเดียวกัน  พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้  คราวหนึ่งไม่เกิน ๗ คืน  เรียกว่ "สัตตาพะ"  หากเกินกำหนดนี้ ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์จากการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

ข้อยกเว้นสำหรับให้ภิกษุสงฆ์จำพรรษาที่อื่นได้  โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน ๗ วัน  ได้แก่

๑. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
๒. การไประงับภิกษุสามเณร ที่อยากจะสึก มิให้สึกได้
๓. การไปเพื่อธุระของคณะสงฆ์  เช่น การไปหาอุปกรณ์เพื่อซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุด
๔. หากมีทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

นอกจากที่กล่าวมานี้ หากระหว่างการเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี  พระภิกษุสงฆ์เดินทางมาทันถึงในหมู่บ้าน หรือในเมืองก็หาที่พักได้ตามสมควร  แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม  ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากมาก จึงได้ช่วยกันปลูกเพิงที่พัก เพื่อให้ท่านอาศัยพักฝนหรือพักแรม รวมกันหลาย ๆ องค์  ที่พักนี้เรียกว่า "วิหาร"  แปลว่า  ที่อยู่สงฆ์........เมื่อหมดฤดูฝนแล้ว พระสงฆ์ท่านก็ออกทำกิจของท่านตามปกติ  พอถึงหน้าฝนอีกท่านก็กลับมาพักที่วิหารได้อีก เพราะสะดวกกว่าอยู่โคนไม้  แต่บางท่านก็อยู่ประจำเลย  บางทีก็มีเศรษฐีใจบุญมีจิตศรัทธาเสื่อมใสในพระพุทธศาสนา  สร้างที่พักในที่สงบที่ไม่ห่างไกลชุมชนมากถวาย ที่พักนี้เรียกว่า "อาราม"  เพื่อให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นในปัจจุบันนี้

ในวันก่อนเข้าพรรษา ชาวบ้านก็จะพากันไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ  ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา ก็มีการบำเพ็ญกุศลด้วยการทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา  และของใช้ที่จำเป็นแด่พระสงฆ์ มีการฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัดด้วย  บางคนก็มีการอธิษฐานจิตงดเว้นอบายมุขทั้งหลายตลอดพรรษา บางคนก็บวชจำพรรษาเพื่อศึกษาพระธรรมเป็นกรณีพิเศษ เพราะมีความเชื่อกันว่า การบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษในช่วยเข้าพรรษานี้ มีอานิสงส์มาก

นอกจากนี้แล้ว ยังมีประเพณีที่สำคัญที่ได้กระทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนนี้ คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา"  ซึ่งจะกระทำกันเมื่อใกล้จะถึงฤดูเข้าพรรษา  การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้กระทำกันทุกปี  เพราะว่าในระยะเข้าพรรษาพระภิกษุสงฆ์ จะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า-เย็น และในการนี้ก็จะต้องมีธูป เทียนจุดบูชาพระรัตนตรัยด้วย  ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงได้มีการหล่อเทียนเข้าพรรษาถวาย  เพราะมีความเชื่อกันว่า การให้ทานด้วยเทียนซึ่งให้แสงสว่าง จะมีอานิสงส์ทำให้เพิ่มพูนด้านปัญญายิ่งขึ้น  ก่อนที่จะนำเทียนเข้าพรรษาไปถวายวัด ก็จะมีการแห่เทียนกันอย่างใหญ่โต บางแห่งมีการประกวดความงามของเทียนด้วย หลังจากแห่ให้คนได้ชมความงามของเทียนแล้ว ก็มีการแห่เทียนรอบโบสถ์ ๓ รอบแล้วจึงนำไปถวายวัด

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้ "วันเข้าพรรษา"  ตรงกับวันศุกร์ที่ ๓ สิงหาคม  ในวันนี้  ทางสถานที่ราชการ  หน่วยงานต่าง ๆ และโรงเรียนต่าง ๆ  หยุด ๑ วัน เพื่อให้ประชาชนได้ไปบำเพ็ญบุญกุศลกันที่วัด เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวด้วย.


                                                 
                                                    ขออนุโมทนาบุญค่ะ

                                        ..................................................