หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปรมัตถธรรม บัญญัติธรรม สมมติธรรม





 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

ปรมัตถธรรม หมายถึงสิ่งที่มีจริง ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ขณะใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูป ขณะนั้นเป็นสมมติ

บัญญัติ หมายถึง คำหรือชื่อซึ่งใช้ เพื่อที่จะเรียกชื่อสิ่งที่มี หรือสิ่งที่ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จริงหรือไม่จริง เช่น คำว่า "เวทนา" เป็นบัญญัติ เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกที่มีจริง ๆ  "เวทนา" เป็นสภาพรู้สึก ดีใจ เสียใจหรือเฉย ๆ เวทนาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าบัญญัติบางคำก็หมายถึงสิ่งที่ไม่มีจริง บัญญัติแม้ว่าจะไม่มีโดยปรมัตถ์ แต่ก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะหนึ่ง ๆ  (จิตตุปาทะ) หรือเป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดขึ้น ได้แก่ทำอาการหรือมีสัณฐานเป็นต้น ให้เป็นเหตุกล่าวกัน เรียกกันให้รู้ความหมายกัน
จึงเรียกว่า "บัญญัติ" เช่น ธาตุดินก็เป็นเพียงอ่อนหรือแข็ง แต่ก็เรียกโดยสัณฐานรูปร่างลักษณะว่าเป็น จานบ้าง ชามบ้าง ช้อนบ้าง ส้อมบ้าง แม้ว่าคำบัญญัติเรียก จาน ชาม ช้อน ส้อม ไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ไม่มีลักษณะเป็นปรมัตถ์แท้ ๆ ต่างหากจากธาตุดิน แต่ก็เป็นเงาอรรถ คือให้รู้ถึงความหมายของสิ่งที่ให้เข้าใจในขณะนั้น โดยเทียบเคียงหรือเปรียบเทียบ ได้แก่ทำอาการ มีสัณฐานเป็นต้น ให้เป็นเหตุกล่าวกัน ธาตุดินมีจริง แต่ว่าถ้วย ชาม จาน ช้อน ส้อมเป็นบัญญัติ เพื่อให้รู้อรรถของสัณฐาน ซึ่งเหมือนเงาของปรมัตถ์ เพราะเหตุว่าเป็นสัณฐานที่ทำให้สามารถรู้ว่าหมายถึงอะไร

นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยเสียง ซึ่งเป็นบัญญัติให้รู้ความหมายของสิ่งที่ยึดถือ หรือสมมติกันว่าอะไร ทุกคนมีตาเห็นสิ่งต่าง ๆ ยึดถือสัณฐานของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่าง ๆ รู้ในอรรถของสิ่งที่สมมติ  สัตว์เดรัจฉานก็เห็น แต่ผู้ที่เป็นมนุษย์สามารถที่จะใช้เสียง เรียกสิ่งที่สมมติขึ้น ให้เข้าใจว่าหมายถึงสิ่งอะไร ในขณะที่สัตว์เดรัจฉานไม่มีความสามารถพอที่จะใช้เสียงได้อย่างมนุษย์ ที่จะบัญญัติได้อย่างละเอียด เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะเข้าใจสภาพธรรมชนิดหนึ่ง คือ เสียงหรือสัทธรูป เมื่อมีการพูด มีการใช้เสียง จึงต้องใช้เสียงสำหรับบัญญัติเรียกสิ่งต่าง ๆ เสียงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าไม่มีเสียง นามหรือชื่อต่าง ๆ หรือคำทั้งหลายเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ก็จะมีไม่ได้ เราติดในบัญญัติทั้งหลาย คือ "ชื่อ" ซึ่งเรียกกันว่า สมมติ เพราะฉะนั้น บัญญัติก็คือ ชื่อซึ่งเรียกสิ่งสมมติหรือปรมัตถธรรม เพื่อให้เข้าใจความหมายนั่นเอง

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย แ และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ