หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

จะคลายความติดข้องได้อย่างไร



ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ในธรรมะทุกท่าน

ท่านทราบไหมว่า....เราทุกคนเดินทางไม่หยุดในสังสารวัฏฏ์และยังจะต้องเดินทางต่อไปอีก เพราะเหตุว่า เราทั้งหลายยังมีความยินดีพอใจติดข้องอยู่ในกาม  ยินดีพอใจติดข้องในขันธ์ ๕  ยินดีพอใจติดข้องในของไร้สาระ.....คนเราแสวงหาอาหารของทุกข์....แสวงหาโดยรอบ คือทางตา ทางหู  ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ........แสวงหาโดยไม่มีการหยุดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ......แสวงหาอาหารของทุกข์ในสังสารวัฏฏ์......ทำให้สังสารวัฏฏ์ต้องยืดยาวนานออกไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด.....ถ้าไม่รู้จักลักษณะอาหารของทุกข์  ได้แก่ "โลภะหรือตัณหา" ซึ่งเป็นเหตุปัจจัย (สมุทัย) ให้เกิดทุกข์ทั้งปวง......ก็จะไม่สามารถที่จะละโลภะความยินดีพอใจติดข้องได้เลย

"โลภะ"  เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นอกุศลธรรม เป็นเจตสิก....."โลภเจตสิก" มีลักษณะเป็นสภาพเพลิดเพลิน ยินดี พอใจ  ปรารถนา ติดข้อง ต้องการ.....อารมณ์ทั้งหลายเป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจ (โลภะ)  แม้ลมหายใจก็ยังเป็นที่ตั้งของโลภะได้....ลมหายใจเป็นโผฎฐัพพารมณ์ (การสัมผัสในจมูก ช่องจมูกหรือเบื้องบนริมฝีปาก เช่นเดียวกับการสัมผัสทางกาย) อารมณ์ที่ปรากฏเมื่อสัมผัสในช่องจมูก ก็เช่นเดียวกับการสัมผัสที่ส่วนอื่น ๆ ทางกาย  แล่วมีความปรารถนา ความต้องการที่จะให้จิตสงบ......จึงมีการรจดจ้องที่ลมหายใจ....ซึ่งขณะนั้น "โลภะ" เกิดแล้ว  แต่สติไม่ได้ระลึกรู้สภาวะธรรมที่ปรากฏ ก็ผ่านไปด้วยความไม่รู้ (อวิชชา)

รูป  เสียง  กลิ่น  รส  สัมผัสทางกาย (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว) และความคิดนึก เป็นอารมณ์ของโลภะทั้งสิ้น.....เมื่อไม่เข้าใจตามความเป็นจริง  จะพยายามไม่ให้ "โลภะ" เกิด  ขณะที่มีความต้องการขณะนั้น "โลภะ" ได้เกิดขึ้นแล้ว.....ถ้าไม่เห็นไม่รู้จักตัวโลภะ  ก็จะไม่สามารถที่จะละโลภะได้เลย....การเห็นโลภะนี้ต้องเห็นด้วย "ปัญญา" จริง ๆ และต้องละตามลำดับขั้น....ต้องถึงขั้น "พระอรหันต์" จึงจะละ "โลภะ" ได้หมดสิ้น

ก่อนอื่นต้องละทิฎฐิ (ความเห็นผิด) ที่ยึดถือสภาวะธรรมสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นของเที่ยง เป็นตัวตน เป็นสัตว์   เป็นบุคคล เป็นเราในขณะที่เห็น  ที่ได้ยิน  ที่ได้กลิ่น  ที่ลิ้มรส  รู้เย็น  รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหวและรู้ความคิดนึก.....ควรเห็นโทษของโลภะหรือความติดข้องยึดถือ.......ควรมีความเข้าใจว่า  "ขณะใดยังมีโลภะอยู่" เพื่อที่ว่าขณะนั้นปัญญาจะทำหน้าที่ค่อย ๆ  คลายความติดข้อง ความยึดถือในสภาวะธรรมที่ปรากฏว่าไม่ใช่ "เรา" ซึ่งเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน เป็นชีวิตจริง ๆ  แต่ปัญญาไม่รู้ตามความเป็นจริง....ดังนั้นจึงควรอบรมปัญญา ให้มีขึ้นให้เจริญขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย ด้วยการฟังพระธรรม ด้วยการพิจารณาในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนเป็นความเห็นที่ถูกต้อง

สำหรับท่านผู้ที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับโลภะอย่างละเอียดกว่านี้  ก็ค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมเองนะคะ เพื่อความเข้าใจมาก ๆ ยิ่งขึ้น

หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย......ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ