หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเจริญพรหมวิหาร ๔ (ตอน ๒)

กรุณา ความสงสารเป็นสภาพเจตสิกธรรม  มีลักษณะสภาพธรรมที่หวั่นไหวอยู่เฉยไม่ได้ เมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความลำบากอันเกิดจากอกุศลกรรมเป็นเหตุปัจจัย  หรือมีความสงสารที่ผู้อื่นจะต้องประสบกับความลำบากทุกข์ยากในภายหน้า  อันเกิดจากอกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว....กรุณามีลักษณะใฝ่ใจที่จะช่วยขจัดทุกข์ให้แก่ผู้อื่น....ปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้ทีมีความทุกข์ ได้รับความสุขตามเหตุตามปัจจัยที่ตนพึ่งจะได้รับ.....กรุณาจะต้องไม่ประกอบด้วยความขุ่นเคือง ความเศร้าใจ (โทสะ)  จะมีแต่ความแช่มชื่นผ่องใสและเบิกบาน  ซึ่งเป็นมหากุศลจิต...ขณะใดที่จิตมีความขุ่นเคืองเศร้าหมอง  ขณะนั้น "กรุณา" เกิดไม่ได้

กรูณามีลักษณะทางกาย วาจา และใจ ที่เป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์แก่ผู้อื่นให้สิ้นไป  มีความสงบไม่เบียดเบียนผู้อื่น ฉะนั้นจึงควรพิจารณาเห็นว่า  สัตว์ผู้ถูกครอบงำด้วยความทุกข์ เป็นผู้น่าสงสาร.... ข้าศึกใกล้หรืออกุศลธรรมที่เป็นศัตรูคู่ปรับของกรุณา ได้แก่ ความเศร้าโศก (โทมนัส)....ข้าศึกไกลหรืออกุศลธรรมที่เป็นศัตรูคู่ปรับของกรุณา ได้แก่  ความไม่เบียดเบียน (วิหิงสา)

มุทิตา โมทนายินดีต่อผู้ประกอบกรรมดี มีความสำเร็จสุข  พลอยยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข มีความแช่มชื่นผ่องใสและเบิกบาน....มุทิตาที่แท้จริงจะต้องไม่ประกอบด้วย "ริษยา" (อิสสา) เพราะเหตุว่าริษยาเป็นธรรมคู่ปรับของมุทิตา....ขณะใดมี "ริษยา" ขณะนั้น "มุทิตา" เกิดไม่ได้....มุทิตามีหน้าที่ขจัดความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสำเร็จ ความสุขของผู้อื่น....มุทิตามีความสงบไม่มีความริษยาเป็นสมบัติ.....ข้าศึกใกล้หรืออกุศลธรรมศัตรูคู่ปรับของมุทิตา ได้แก่ โสมนัส (ความดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์ด้วย)......ข้าศึกไกลหรืออกุศลธรรมคู่ปรับของมุทิตา ได้แก่ ความไม่ยินดี ริษยา (อรติ)

อุเบกขา เป็นปรมัถธรรมเจตสิก....มีลักษณะวางใจเป็นกลาง  มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีความเสมอเท่าเทียมกัน  พิจารณาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน  มีความสงบ ไม่มีความยินดียินร้าย.....อุเบกขาระงับความขัดเคืองเสียใจ (โทสะ) และความคล้อยตามความดีใจ....พึงพิจารณาเห็นว่า  สัตว์ทั้งหลายจักได้เสวยวิบากกรรมตามเหตุตามปัจจัยที่ได้กระทำกรรมไว้แล้ว  และสัตว์ทั้งหลายจักได้สิ่งใด ๆ  ดังปรารถนาจักมีได้อย่างไร....อุเบกขามี "อัญญาณเบกขา" ความเฉยเมยหรือเมินเฉยซึ่งประกอบด้วยความไม่รู้ (อวิชชา) เป็นข้าศึกใกล้ เพราะเหตุว่าไม่ได้พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง.........ข้าศึกไกลหรืออกุศลธรรมที่เป็นศัตรูคู่ปรับของอุเบกขา ได้แก่ ราคะ (ความใคร่) ปฏิฆะ (ความขุ่นเคือง) ไม่ชอบใจขัดใจ (โทสะ)  อุเบกขามีความสงบ ไม่มีความยินดียินร้ายเป็นสมบัติ

ตัวอย่างมาตรฐานแสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัด  ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง
๑.  เมื่องลูกยังเล็กเยาว์วัย
     แม่-เมตตา รักใคร่ เอาใจใส่ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
๒. เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย
    แม่- กรุณา ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
๓. เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า
    แม่- มุทิตาพลอยปลาบปลิ้มใจ  หรือหวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
๔. เมื่อลูกรับผิดชอบหน้าที่ของตน ขวนขวายอยูด้วยดี
    แม่- อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู

พรหมวิหาร ๔ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อัปปมัญญา ๔"  เพราะเหตุว่าเป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลต่อสัตว์โลกอย่างไม่มีขอบเขต  จึงควรอบรมเจริญให้มียิ่ง ๆ ขึ้น...พรหมวิหารคือคุณธรรมที่ทำให้เสมอด้วยพรหมหรือธรรมเครื่องอยู่ของพรหม...พรหมวิหารมีในผู้ใด  ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น

พึงทราบด้วยว่า...ฉันทะ คือ กัตตกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือความต้องการที่จะทำให้คนและสัตว์ทั้งหลาย  ดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง  เช่นอยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์ เป็นต้น)  เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง ๔ นี้

การข่มระงับกิเลส (เช่นข่มนิวรณ์)  ได้เป็นท่ามกลาง...สมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิ (คือภาวะจิตที่ตั้งมั่นคงเรียบสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบของพรหมวิหารทั้ง ๔ นั้น

สำหรับบทความนี้ ข้อความบางตอนได้คัดลอกมาจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของ   พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต) หากมีความผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัยและท่านพระอาจารย์เจ้าของหนังสือ ไว้ ณ ที่นี้  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย......ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเจริญพรหมวิหาร ๔





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

พรหมวิหาร เป็นคุณธรรมของผู้ประเสริฐ เป็นเรื่องที่ละเอียดซึ่งควรพิจารณา....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงเน้นให้อบรมเจริญให้มาก ๆ  เพราะเหตุว่า "พรหมวิหาร " เป็นความสงบของจิตในชีวิตประจำวัน หรือเป็นธรรมเครื่องอยู่ของจิตในชีวิตประจำวัน

พรหมวิหาร ๔  ได้แก่  ๑.เมตตา  ๒.กรุณา  ๓.มุทิตา  ๔.อุเบกขา
๑.เมตตาพรหมวิหาร.....เมตตา แปลว่า มิตรไมตรี  ความเป็นเพื่อนสนิทสนมด้วยความจริงใจ....สภาพปรมัตถธรรมของเมตตาคือ อโทสเจตสิก....ผู้ที่จะเจริญเมตตา จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักลักษณะของเมตตาก่อน ต้องพิจารณาสภาพของจิต หรืออาการของจิตขณะนั้น ประกอบด้วยเมตตาจริง ๆ หรือไม่  แล้วจึงค่อยเจริญเมตตาตามลำดับขั้น....เมตตามีลักษณะเป็นมิตรไมตรี สนิทสนมกับทุกคน มีความเอ็นดู ปกป้องคุ้มครอง เกื้อกูลคอยแสวงหาแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์สุขมาให้  มีความสงสารและหวั่นไหวเมื่อเพื่อนมีความทุกข์  ไม่หาโทษให้เพื่อนเป็นทุกข์  ด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจาและทางใจ

ถ้าพิจารณาสภาพของจิตและความประพฤติที่เป็นไปทางกาย วาจา ใจ อยู่บ่อย ๆ ก็จะเป็นการอบรมเจริญเมตตาอย่างแท้จริงให้เพิ่มขึ้น.....การเจริญเมตตาตามลำดับขั้น ก็คือเมตตากับคนที่อยู่เฉพาะหน้า คนใกล้ชิด ขณะนั้นให้พิจารณาความรู้สึกของตน ว่าเป็นเพื่อนเป็นมิตรไมตรี สนิทสนมมีความจริงใจหรือไม่.....  ถ้าขณะนั้น  ไม่มีความรู้สึกเป็นมิตรสนิทสนม เมตตาก็จะเจริญไม่ได้....เมตตาพรหมวิหารเป็นเมตตาที่กว้างขวางมากไม่มีขอบเขต....การแผ่เมตตาให้แก่ตนเอง เป็นการเตือนตนเองเท่านั้น....จะสำเร็จประโยชน์ได้  ก็ต่อเมื่อมีเมตตาต่อบุคคลอื่นจริง ๆ......การแผ่เมตตาให้แก่บุคคลแรกคือ ผู้ที่มีคุณเสมอเหมือนครูบาอาจารย์ ผู้ประกอบด้วยคุณธรรม มีเมตตาและกุศลธรรม  เมื่อนึกถึงครั้งใดก็เกิดกุศลจิตทุกเมื่อ ซึ่งจะทำให้จิตมีความอ่อนโยน  เมื่อนึกถึงบุคคลนั้นแล้ว ก็จะนึกถึงแต่ในทางที่ดี  ทำให้กุศลจิตเกิดบ่อย ๆ หวังดีต่อบุคคลนั้น ด้วยประการทั้งปวง ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการอบรมเจริญเมตตา.... 

การอบรมเจริญเมตตาจะต้องรู้ว่า ตนเองมีเมตตามากหรือน้อยขนาดไหน  หรือว่ายังขาดเมตตาอยู่มาก  จึงค่อย ๆ อบรมเจริญให้มีทีละเล็กทีละน้อยเพิ่มขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้ได้ว่า  คนที่รักหรือคนที่ชัง ขณะที่เห็น ที่ได้ยิน หรือขณะที่คิดถึง  ย่อมประกอบด้วยเมตตาเสมอ......ขณะที่เห็นศัตรูก็พร้อมที่จะเกื้อกูลนำสิ่งที่เป็นประโยชน์สุขไปให้เช่นเดียวกับคนที่รัก.....การอบรมเจริญเมตตาจะช่วยขัดเกลา และละคลายอกุศลหลายประเภท ให้เบาบางลงได้มากทีเดียว เช่น "มานะ" มีลักษณะสำคัญตน ถือตน ข่มผู้อื่น ซึงเป็นอกุศลที่ขวางกั้นเมตตาไม่ให้เกิดขึ้น......ขณะใดที่ "สติสัมปชัญญะ" ไม่่เกิด  ก็จะไม่สามารถเห็น "มานะ" ได้เลย และถ้ามีเมตตาจริง ๆ ก็จะไม่มีมานะเลย....ขณะใดที่มี "ริษยา" ขณะนั้นไม่มีเมตตา...ขณะใดมีความ  ขุ่นเคือง  ขณะนั้นไม่มีเมตตา....เมตตาต้องไม่ประกอบด้วย "โลภะ" (ความติดข้องต้อง ยึดมั่น ถือมั่น)....เมตตาบำบัดความอาฆาตและระงับความพยาบาท  เพราะเหตุว่าเมตตา หมายถึงความเป็นมิตรไมตรีสนิทสนมอย่างแท้จริง.....เมตตาที่ประกอบด้วยความรักใคร่เสน่หาไม่ใช่เมตตาที่แท้จริง.....การที่จะสามาถแยกได้ว่าจิตขณะนั้นเป็น "กุศล" หรือ "อกุศล" นั้น ก็จะต้องเป็นผู้เจริญสติปัฏฐานอยู่เนื่อง ๆ  ต้องเป็นปัญญาและสติสัมปชัญญะเท่านั้น จึงจะรู้ได้ว่าอะไรเป็นกุศลและอกุศล

สำหรับเรื่องพรหมวิหาร ๔ นี้ ยังมีตอนต่อไปอีก

หากมีข้อความใดขาดตกหรือผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ขันธ์ ๕ ได้ชื่อว่า "อุปาทานขันธ์" เพราะเหตุใด





 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

ขันธ์ ๕  ได้ชื่อว่า "อุปทานขันธ์"....เพราะเหตุว่าเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ....ผู้ไม่ใช่พระอรหันต์ยังยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕  ยึดถือร่างกายว่าเป็น "เรา" ....ยึดมั่นใน "นามขันธ์และรูปขันธ์" ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นเรา....เรายึดมั่นในรูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์และวิญญาณขันธ์  เพราะเหตุว่าไม่รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง  ดังนั้นจึงเป็น "ทุกข์"

ตราบใดที่ขันธ์ ๕  ยังเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ  ตราบนั้นก็เหมือนกับคนป่วยเพราะถูกโรคเบียดเบียน.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสแก่ นกุลบิดาคฤหัสผู้เฒ่า ให้พิจารณาว่า "เมื่อมีกายกระสับกระส่ายอยู่  จิตขอเราจะไม่กระสับกระส่าย"  พระสารีบุตรได้ขยายความว่า "ปุถุชนผู้มิได้สดับแล้วในโลกนี้  มิได้รับการแนะนำในอริยธรรม  ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ๑.....ย่อมเห็นรูปในตน ๑....ย่อมเห็นตนในรูป ๑.....เป็นผู้ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า...เราเป็นรูป...รูปของเรา  เมื่อเขาตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่นว่า เราเป็นรูป  รูปของเรา  รูปนั้นย่อมแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป  เพราะเหตุว่ารูปแปรปรวนเป็นอื่นไป  โสกะ (ความเศร้าโศก), ปริเทวะ (ความร่ำไรรำพัน) , ความทุกข์ (ความไม่สบายกาย), โทมนัส (ความไม่สบายใจ), อุปายาส (ความคับแค้นใจ) จึงเกิดขึ้น....ย่อมเห็นเวทนาโดยความเป็นตน ๑....ย่อมเห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑........ย่อมเห็นสังขารโดยความเห็นตน ๑....ย่อมเห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑....ด้วยเหตุนี้แล  บุคคลจึงชื่อว่า เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย  เป็นผู้มีจิตกระสับกระส่าย"

พระสารีบุตรได้ทรงขยายความอีกว่า  "บุคคลแม้เป็นผู้มีกายกระสับกระส่าย  แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่  คืออริยสาวกในพระธรรมวินัย...ย่อมไม่เห็นรูปโดยความเป็นตน ๑....ย่อมไม่เห็นเวทนาโดยเป็นตน ๑....ย่อมไม่เห็นสัญญาโดยความเป็นตน ๑....ย่อมไม่เห็นสังขารโดยความเป็นตน ๑....ย่อมไม่เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน ๑...เมื่อพระอริยาสาวกไม่ตั้งอยู่ด้วยความยึดมั่น  .....เมื่อวิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่น  เพราะวิญญาณแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป  โสกะ  ปริเทวะ ทุกข์  โทมนัสและอุปายาส จึงไม่บังเกิดขึ้น.....อย่างนี้แล  บุคคลแม้มีกายกระสับกระส่าย  แต่หาเป็นผู้มีจิตกระสับกระส่ายไม่"

ตราบใดที่ยังยึดมั่นในขันธ์ ๕  ก็ยังเป็นเสมือนคนป่วย  แต่จะหายได้ก็ต่อเมื่อจิตได้ประจักแจ้งในขันธ์ ๕  ตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (บังคับบัญชาไม่ได้).....และตราบใดที่ยังยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕  ก็จะต้องเกิดในภพชาติต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด....เพราะฉะนั้นควรอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘   เพื่อที่จะได้เป็นปัจจัยปรุงแต่งจิตให้เริ่มรู้สภาพตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕  ซึ่งเป็นหนทางไปสู่ความดับทุกข์ทั้งปวง  ไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป....บุคคลผู้ที่จะดับภพชาติได้นั้น  จะต้องเป็นผู้บรรลุพระสัททธรรมขั้นสูงสุด คือ ขั้นอรหันตบุคคล


สำหรับบทความนี้ก็เป็นเพียงย่อ ๆ  หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัย ไว้ ณ ที่นี้....และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย.....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันอาทิตย์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กิเลสคืออะไร





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

ขณะนี้ประเทศไทยกำลังมีข่าวมหาภัยพิบัติน้ำท่วม  นำความวิบัติมาสู่ประเทศชาติบ้านเมืองหาค่าประมาณมิได้ นับว่าเป็นมหาภัยที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน  ผู้คนและสัตว์เป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนมาก.....แต่ว่าภัยจาก "กิเลสท่วมใจ" อยู่ทุกขณะจิตนั้น เป็นทุกข์มากกว่าหลายเท่า  ขณะจิตเห็นเกิดก็กิเลสท่วมแล้ว  ขณะได้ยินก็กิเลสท่วม  ขณะลิ้มรสก็กิเลสท่วม  ขณะจิตคิดก็โดนกิเลสท่วมอีกเช่นกัน....เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า "กิเลสท่วมใจ" เป็นภัยที่ร้ายแรงยิ่งกว่าภัยน้ำท่วม  เพราะเหตุว่าลอยคออยู่กลางการท่วมของกิเลสโดยไม่รู้ตัว....ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมะตามความเป็นจริง  ก็จะไม่มีทางที่จะคลายทุกข์ได้เลย...ทุกข์เกิดเพราะน้ำท่วม  ขณะที่จิตคิดเป็นอกุศล  จิตก็ท่วมด้วยกิเลสซะแล้ว  เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีความเข้าใจ (ปัญญา) ธรรมะจริง ๆ แล้ว  จะเอาอะไรไปดับกิเลสได้  จะคลี่คลายทุกข์ได้อย่างไร

กิเลสคืออะไร....กิเลสเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง  ไม่บริสุทธิ์  ไม่ผ่องใส....ขณะที่เกิดความยินดีพอใจ ติดข้องต้องการในสิ่งหนึ่งสิ่งใด  ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่บริสุทธิ์ เศร้าหมอง ไม่สบายใจ เป็นทุกข์  สติไม่สามารถระลึกรู้สภาพธรรม  ตามความเป็นจริงในขณะนั้นได้  และอวิชชา (ความไม่รู้) ไม่สามารถเห็นได้ว่า  ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เศร้าหมอง ไม่สบายใจ ไม่บรุิสุทธิ์ เดือดร้อนใจเพราะความติดข้องต้องการ ซึ่งเป็น "อกุศลธรรม"  ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด  ปัญญาไม่พิจารณา ก็จะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็น "โลภะ" หรือขณะที่มีสภาพธรรมความขุ่นเคือง ขัดข้อง หยาบกระด้าง ไม่พอใจเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็น "โทสะ" ....และขณะที่มีความหลงลืมไม่รู้สภาพธรรม ที่ปรากฏขณะนั้นตามความเป็นจริง  ก็เป็น "โมหะ"  ที่กล่าวมานี้เป็นอกุศลทั้งสิ้น

จะเห็นได้ว่าในชีวิตประจำวันของปุถุชนทั่ว ๆ ไป  คือผู้ยังมีกิเลสอยู่  จะพ้นจาก "โลภะ" ไปไม่ได้เลย....เมื่อใดมีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ  เมื่อนั้นยังเป็นผู้มี "กิเลส" อยู่.....กิเลสที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ  เมื่อมีกำลังแรงกล้า ก็สามารถเป็นอกุศลทางกายและอกุศลทางวาจาได้  ถึงแม้ว่าอกุศลทางกายและทางวาจาทั้งสองทางนี้  ดับไปแล้วก็ตาม  แต่การสะสมของกรรม ที่สืบต่ออยู่ทุกขณะ  มีการเกิดดับสืบต่อกันไปเรื่อย ๆ นั้น  ก็จะเป็นเหตุปัจจัย หรือเป็นกรรมปัจจัย คือเป็นสภาพธรรมที่ทำให้เกิดผลหรือวิบาก (วิบากจิตและเจตสิก) เกิดขึ้น....ดังนั้นจึงต้องรู้ว่าขณะใดเป็น "กิเลส" ขณะใดเป็น "กรรม" และขณะใดเป็น "วิบาก"

จิตเห็น จิตได้ยิน  จิตได้กลิ่น  จิตลิ้มรส  จิตรู้เย็น จิตรู้ร้อน จิตรู้อ่อน จิตรู้แข็ง จิตรู้ไหว จิตรู้ตึง เป็นผลของกรรม (เป็นวิบากจิต) ทั้งสิ้น....ขณะใดได้เห็นสิ่งที่สวยงามหรือสิ่งที่น่าพอใจ ขณะนั้นเป็นผลของ "กุศลกรรม"....ขณะใดได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจ  ขณะนั้นเป็นผลของ "อกุศลกรรม" ....ขณะใดจะเป็นกุศลวิบากหรืออกุศลวิบาก ก็ย่อมแล้วแต่ว่า  กุศลกรรมหรืออกุศลกรรมจะเป็นปัจจัยให้วิบากนั้น ๆ เกิดขึ้นทางทวารหนึ่งทวารใด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ถ้าเป็นผู้ตรงและละเอียด ก็จะสามารถรับพระธรรมเข้าไว้ในจิตใจด้วยความเห็นถูก ความคิดถูกและความคิดดี  และก็จะสามารถศึกษาและประพฤติปฏิบัติธรรมจนสามารถเกิดปัญญาในขั้นสูงสุดได้

สำหรับบทความนี้ก็เป็นเพียงย่อ ๆ เท่านั้น....หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย...และขอโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ขันธ์ ๕





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

ขันธ์ ๕....ปรมัตถธรรม ๓  คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเป็นสังขารธรรม (เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งแล้วก็ดับไป) สามารถแยกอีกนัยหนึ่ง โดยเป็น "ขันธ์ ๕"....ขันธ์ หมายถึง กองหรือกลุ่ม ได้แก่

๑. รูปขันธ์   ได้แก่  รูปทุกรูป
๒. เวทนาขันธ์   ได้แก่   ความรู้สึก (เวทนาเจตสิก)
๓. สัญญาขันธ์   ได้แก่   ความจำรู้หมาย (สัญญาเจตสิก)
๔. สังขารขันธ์   ได้แก่   นามธรรมที่ปรุงแต่งจิต (เจตสิก ๕๐ ดวง)
๕. วิญญาณขันธ์   ได้แก่   จิตทุกดวง (จิต ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง)

๑.รูปขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สามารถรู้ได้ เช่น ร่างกายเมื่อเรารู้สึกแข็งหรือรู้สึกอ่อน แข็งหรืออ่อนเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งที่รู้ได้เมื่อมีการกระทบสัมผัสทางกาย...รูปขันธ์ไม่ได้หมายถึงเฉพาะร่างกายเท่านั้น  สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย ก็เป็นรูปขันธ์ด้วย  เช่น สี  เสียง  กลิ่น  รส  เย็น ร้อน อ่อน แข็ง  ไหว  ตึง เหล่านี้เป็นรูปขันธ์  เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง

๒.เวทนาขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง สามารถรู้....ความรู้สึกทุกอย่างเป็น "เวทนาขันธ์"  เวทนาแบ่งออกเป็น เวทนา ๓ และเวทนา ๕  ดังนี้

เวทนา ๓  ได้แก่  สุขเวทนา (สุขกาย),  ทุกขเวทนา (ทุกข์กาย), อุเบกขาเวทนา (เฉย ๆ)
เวทนา ๕  ได้แก่  โสมนัสเวทนา (สุขใจ), โทมนัสเวทนา (ทุกข์ใจ), อทุกขมสุข (ไม่ทุกข์ไม่สุข), สุขเวทนา, ทุกขเวทนา

เวทนาเกิดกับจิตทุกดวง....การที่เวทนาต่าง ๆ เกิดแล้วดับไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับจิต  จึงยากที่จะรู้ได้ว่าเป็นเวทนาประเภทใด  เช่น  สุขเวทนาที่เกิดทางกายกับโสมนัสเวทนา เป็นเวทนาที่เกิดทางใจ  ถึงแม้ว่าจะเป็นนามธรรมเหมือนกัน  แต่ก็เป็นความรู้สึกที่แตกต่างกัน  เพราะมีปัจจัยต่างกัน  เวทนาเป็นเจตสิกเกิดกับจิตแล้วก็ดับไปพร้อมกับจิต  ไม่เที่ยง

๓.สัญญาขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดกับจิตทุกดวงและดับพร้อมกับจิต....สัญญาทำหน้าที่จำและรู้หมายอารมณ์ที่จิตรู้  สัญญาจำทุกอย่างแม้ขณะที่หลงลืมสติ.....สัญญาเป็นเจตสิกเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่เที่ยง

๔.สังขารขันธ์  เป็นสภาพธรรมที่มีจริง (เจตสิก ๕๐ ดวง)  เราสามารถรู้สังขารขันธ์ได้ในขณะที่มีกุศลเจตสิกเกิดขึ้นกับจิต (โสภณเจตสิก)  เช่น ขณะให้ทาน เอื้อเฟื้อ เมตตา  กรุณา  หรือขณะอกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับจิต  เช่น โทสะ โลภะ โมหะ อิสสา  มัจฉริยะ....สภาพธรรมเหล่านี้เป็น "สังขารขันธ์" เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป  ไม่เที่ยง

๕.วิญญาณขันธ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง...วิญญาณหมายถึง จิตทุกดวง มีทั้งหมด ๘๙ ดวง  เราสามารถรู้ได้เมื่อมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การกระทบสัมผัสทางกายและการนึกคิด....วิญญาณขันธ์เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย  แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง

สังขารธรรม ทั้งหลายก็คือขันธ์ ๕....ขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ เรียกว่า "อุปาทานขันธ์"...ฉะนั้นจึงยึดถือในรูปขันธ์และนามขันธ์ ว่าเป็นตัวตน...ยึดรูปร่างกายว่าเป็นตัวตน  ยึดเวทนา  ยึดสัญญา  ยึดสังขาร  ยึดวิญญาณ ว่าเป็นตัวตนเป็นเรา....เมื่อเราไม่รู้จักขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ก็จะต้องเป็นทุกข์...ตราบใดที่ยังยึดมั่่นในขันธ์ ๕   ย่อมจะต้องเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะทุกข์  และเวียนอยู่ในภพชาติต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด....หนทางที่จะละคลายความยึดมั่นในขันธ์ ๕  และเพื่อความดับขันธ์ ๕ เป็นสมุจเฉทก็คือ  การอบรมเจริญมรรคมีองค์ ๘  ซึ่งเป็นทางดำเนินไปสู่ความดับทุกข์โดยสิ้นเชิง  บรรลุอริยสัจจธรรมขั้นอรหันตบุคคล ไม่มีการเกิด แก่ เจ็บ ตายอีกต่อไป

บทความนี้เป็นเพียงย่อ ๆ ....หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ณ ที่นี้ด้วย ...ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน

วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความจริงที่ควรพิจารณา



   
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

ทุกคนมีชีวิตในชาติหนึ่ง ๆ  ยืนยาวบ้างหรือสั้นบ้าง  ขึ้นอยู่ที่กรรมซึ่งได้กระทำไว้แล้ว....การอบรมปัญญาเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ ตามความเป็นจริง ให้เพิ่มขึ้นในแต่ละชาติ ย่อมมากบ้างหรือน้องบ้าง  เพราะเหตุว่าในชีวิตแต่ละวัน เต็มไปด้วยภารกิจและกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย....ดังนั้นโอกาสที่จะได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมและอบรมเจริญปัญญาให้เพิ่มขึ้นนั้น  จึงเป็นโอกาสอันประเสริญยิ่ง  บางชีวิตอาจจะยืนยาว  แต่ไม่มีโอกาสได้อบรมปัญญาเลย  ก็เป็นชีวิตที่ไร้ค่าไร้สาระ  เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

แต่ละคนก็จะต้องจากโลกนี้สักวันใดวันหนึ่ง  จะต้องหมดสภาพจากความเป็นบุคคลนี้  จะต้องจากทุกสิ่งที่ทุกอย่างที่ตนมีตนรัก  จะต้องจากเหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ของโลกนี้ทั้งสิ้น....สิ่งที่สะสมก็คือกุศลบ้างและอกุศลบ้าง  มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป  ซึ่งจะเป็นเหตุปัจจัย นำไปปฏิสนธิในภพหรือภูมิใหม่เพื่อเสวยวิบากกรรมอีกต่อไปในสังสารวัฏฏ์....เพราะฉะนั้นสิ่งที่ควรจะนำติดตัวไป  ก็ควรที่จะเป็น "กุศล" คือการเจริญกุศลด้วยการฟังธรรม  เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้น  และอบรมเจริญสติปัฏฐานอยู่เนือง ๆ

การพิจารณาธรรมะหรือความจริง  ต้องพิจารณาอย่างละเอียดแยบยล (โยนิโสมนสิการ)....ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรมก็จะไม่สามารถ  ที่จะพิจารณาลักษณะสภาพธรรมได้เลย  จึงเป็นเหตุให้มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ยึดถือสภาพธรรมต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ ว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นตัวเรา เช่น "ขณะเห็น" ก็ยึดถือว่าเป็น "เราเห็น"..... "ขณะได้ยิน" ก็ยึดถือว่าเป็น "เราได้ยิน" เป็นต้น....ความจริงแล้วลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏทางตาคือ "เห็น" เป็นเพียง "นามธรรมหรือจิต" ประเภทหนึ่งซึ่งเกิดที่ตา  ทำหน้าที่เห็นเท่านั้น....ส่วนอารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตานั้น เป็นเพียง "รูปธรรม" เท่านั้น ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล....."นามธรรมและรูปธรรม" เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป....สภาพธรรมที่เกิดปรากฏทางทวารอื่น ๆ  ก็มีนัยเดียวกัน

เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางทวารทั้ง ๖ อยู่ตลอดเวลา  สติไม่ได้ตามระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจิตเกิดความยินดีพอใจบ้าง  หรือไม่ยินดีพอใจบ้าง เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความรู้สึกเป็นสุขบ้าง  หรือความรู้สึกเป็นทุกข์บ้างในแต่ละขณะจิต....จึงเป็นชีวิตที่ไร้สาระผ่านไปแต่ละวัน ๆ   ถ้าไม่ได้สะสมอบรมเจริญสติปัฏฐานเลย ก็จะเสียเวลาและโอกาสอันประเสริฐไปในชาติหนึ่ง ๆ 

สำหรับบทความนี้  หากมีข้อความตอนใด ผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย....และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านค่ะ