หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การเจริญพรหมวิหาร ๔ (ตอน ๒)

กรุณา ความสงสารเป็นสภาพเจตสิกธรรม  มีลักษณะสภาพธรรมที่หวั่นไหวอยู่เฉยไม่ได้ เมื่อเห็นผู้อื่นได้รับความลำบากอันเกิดจากอกุศลกรรมเป็นเหตุปัจจัย  หรือมีความสงสารที่ผู้อื่นจะต้องประสบกับความลำบากทุกข์ยากในภายหน้า  อันเกิดจากอกุศลกรรมที่ได้กระทำไปแล้ว....กรุณามีลักษณะใฝ่ใจที่จะช่วยขจัดทุกข์ให้แก่ผู้อื่น....ปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้ทีมีความทุกข์ ได้รับความสุขตามเหตุตามปัจจัยที่ตนพึ่งจะได้รับ.....กรุณาจะต้องไม่ประกอบด้วยความขุ่นเคือง ความเศร้าใจ (โทสะ)  จะมีแต่ความแช่มชื่นผ่องใสและเบิกบาน  ซึ่งเป็นมหากุศลจิต...ขณะใดที่จิตมีความขุ่นเคืองเศร้าหมอง  ขณะนั้น "กรุณา" เกิดไม่ได้

กรูณามีลักษณะทางกาย วาจา และใจ ที่เป็นไปเพื่อบำบัดทุกข์แก่ผู้อื่นให้สิ้นไป  มีความสงบไม่เบียดเบียนผู้อื่น ฉะนั้นจึงควรพิจารณาเห็นว่า  สัตว์ผู้ถูกครอบงำด้วยความทุกข์ เป็นผู้น่าสงสาร.... ข้าศึกใกล้หรืออกุศลธรรมที่เป็นศัตรูคู่ปรับของกรุณา ได้แก่ ความเศร้าโศก (โทมนัส)....ข้าศึกไกลหรืออกุศลธรรมที่เป็นศัตรูคู่ปรับของกรุณา ได้แก่  ความไม่เบียดเบียน (วิหิงสา)

มุทิตา โมทนายินดีต่อผู้ประกอบกรรมดี มีความสำเร็จสุข  พลอยยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดีมีสุข มีความแช่มชื่นผ่องใสและเบิกบาน....มุทิตาที่แท้จริงจะต้องไม่ประกอบด้วย "ริษยา" (อิสสา) เพราะเหตุว่าริษยาเป็นธรรมคู่ปรับของมุทิตา....ขณะใดมี "ริษยา" ขณะนั้น "มุทิตา" เกิดไม่ได้....มุทิตามีหน้าที่ขจัดความไม่ยินดีหรือความทนไม่ได้ต่อความสำเร็จ ความสุขของผู้อื่น....มุทิตามีความสงบไม่มีความริษยาเป็นสมบัติ.....ข้าศึกใกล้หรืออกุศลธรรมศัตรูคู่ปรับของมุทิตา ได้แก่ โสมนัส (ความดีใจว่าตนจะพลอยได้รับผลประโยชน์ด้วย)......ข้าศึกไกลหรืออกุศลธรรมคู่ปรับของมุทิตา ได้แก่ ความไม่ยินดี ริษยา (อรติ)

อุเบกขา เป็นปรมัถธรรมเจตสิก....มีลักษณะวางใจเป็นกลาง  มีความเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีความเสมอเท่าเทียมกัน  พิจารณาเห็นว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน  มีความสงบ ไม่มีความยินดียินร้าย.....อุเบกขาระงับความขัดเคืองเสียใจ (โทสะ) และความคล้อยตามความดีใจ....พึงพิจารณาเห็นว่า  สัตว์ทั้งหลายจักได้เสวยวิบากกรรมตามเหตุตามปัจจัยที่ได้กระทำกรรมไว้แล้ว  และสัตว์ทั้งหลายจักได้สิ่งใด ๆ  ดังปรารถนาจักมีได้อย่างไร....อุเบกขามี "อัญญาณเบกขา" ความเฉยเมยหรือเมินเฉยซึ่งประกอบด้วยความไม่รู้ (อวิชชา) เป็นข้าศึกใกล้ เพราะเหตุว่าไม่ได้พิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริง.........ข้าศึกไกลหรืออกุศลธรรมที่เป็นศัตรูคู่ปรับของอุเบกขา ได้แก่ ราคะ (ความใคร่) ปฏิฆะ (ความขุ่นเคือง) ไม่ชอบใจขัดใจ (โทสะ)  อุเบกขามีความสงบ ไม่มีความยินดียินร้ายเป็นสมบัติ

ตัวอย่างมาตรฐานแสดงความหมายของพรหมวิหารได้ชัด  ซึ่งคัมภีร์ทั้งหลายมักยกขึ้นอ้าง
๑.  เมื่องลูกยังเล็กเยาว์วัย
     แม่-เมตตา รักใคร่ เอาใจใส่ถนอมเลี้ยงให้เจริญเติบโต
๒. เมื่อลูกเจ็บไข้เกิดมีทุกข์ภัย
    แม่- กรุณา ห่วงใยปกปักรักษา หาทางบำบัดแก้ไข
๓. เมื่อลูกเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวสวยสง่า
    แม่- มุทิตาพลอยปลาบปลิ้มใจ  หรือหวังให้ลูกงามสดใสอยู่นานเท่านาน
๔. เมื่อลูกรับผิดชอบหน้าที่ของตน ขวนขวายอยูด้วยดี
    แม่- อุเบกขา มีใจนิ่งสงบเป็นกลาง วางเฉยคอยดู

พรหมวิหาร ๔ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "อัปปมัญญา ๔"  เพราะเหตุว่าเป็นคุณธรรมที่เกื้อกูลต่อสัตว์โลกอย่างไม่มีขอบเขต  จึงควรอบรมเจริญให้มียิ่ง ๆ ขึ้น...พรหมวิหารคือคุณธรรมที่ทำให้เสมอด้วยพรหมหรือธรรมเครื่องอยู่ของพรหม...พรหมวิหารมีในผู้ใด  ย่อมทำให้ผู้นั้นประพฤติปฏิบัติเกื้อกูลแก่ผู้อื่นด้วยสังคหวัตถุเป็นต้น

พึงทราบด้วยว่า...ฉันทะ คือ กัตตกัมยตาฉันทะ (ความอยากจะทำให้ดี หรือความต้องการที่จะทำให้คนและสัตว์ทั้งหลาย  ดีงามสมบูรณ์ปราศจากโทษข้อบกพร่อง  เช่นอยากให้เขาประสบประโยชน์สุข พ้นจากทุกข์ เป็นต้น)  เป็นจุดตั้งต้น (อาทิ) ของพรหมวิหารทั้ง ๔ นี้

การข่มระงับกิเลส (เช่นข่มนิวรณ์)  ได้เป็นท่ามกลาง...สมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิ (คือภาวะจิตที่ตั้งมั่นคงเรียบสงบสนิทดีที่สุด) เป็นที่จบของพรหมวิหารทั้ง ๔ นั้น

สำหรับบทความนี้ ข้อความบางตอนได้คัดลอกมาจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของ   พระธรรมปิฏก (ประยุทธ์ ปยุตโต) หากมีความผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัยและท่านพระอาจารย์เจ้าของหนังสือ ไว้ ณ ที่นี้  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย......ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน