ขอนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ศรัทธาในธรรมะทุกท่าน
ทุกท่านก็มีภาระหน้าที่การงานในชีวิตแตกต่างกันไป แล้วแต่เหตุปัจจัย... ภาระ ที่แบกกันอยู่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ใช่ภาระจริง ๆ ของชีวิต ท่านทราบมั้ยค่ะ..ว่า "ภาระจริง ๆ ของชีวิตคืออะไร" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า "ภารา หเว ปัญจักขันธา" แปลว่า ขันธ์ ๕ เป็นภาระหนัก "ภารหาโร จ ปุคคโล" แปลว่า ใครถือไปเป็นทุกข์
ภาระ ก็คืออุปาทานขันธ์ ๕ ยึดขันธ์ ๕ ว่าเป็น "ตัวเรา"...ได้แก่ รูปูปาทานขันธ์ เวทะนูปาทานขันธ์ สัญญูปาทานขันธ์ สังขารูปาทานขันธ์ วิญญาณูปาทานขันธ์ ทั้งหมดนี้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น... ขันธ์ ๕ คือสภาพธรรม เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่มีจริง เกิดดับตลอดเวลา ไม่เที่ยง เพราะความไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนัตตา
เราเป็นผู้แบก "ภาระ" เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง ชีวิตในแต่ละวันไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส รู้สิ่งที่มากระทบสัมผัส และนึกคิด กุศลและอกุศล เหล่านี้เป็นขันธ์ทั้งหมด ถ้า "สติ"
ไม่เกิดขึ้น ระลึกรู้สิ่งที่มีจริงที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ ตามความเป็นจริงขณะนั้นจิตเป็น "อกุศลจิต" เพราะเหตุว่า อวิชชาคือความไม่รู้(โมหะ) เป็นเหตุปัจจัย จึงยึดถือด้วยความติดข้อง (โลภะ) ว่าเป็น "เรา" เมื่อมี "เรา" ก็จะต้องมีทุกข์เสมอ เพราะขันธ์ ๕ เป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง
ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้
ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ทั้งหมดนี้เป็นที่ยึดถือของ "ตัณหา" ภาระขันธ์ ๕ ..เราต้้องบริหารขันธ์ให้ถูกต้อง เพื่อความเป็นไปแห่งการดับทุกข์ ต้องบริหารร่างกายและรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักอนามัย การเดิน การยืน การนั่ง การนอน อิริยาบถน้อยใหญ่ต่าง ๆ ก็ต้องอยู่ในความสำรวม นี่ก็ล้วนแต่เป็นภาระในชีวิตประจำวัน จิตหรือนามธรรมสภาพรู้ธาตุรู้ ก็เช่นกัน ก็จะต้องมีการฟังธรรม ศึกษาธรรม การอบรมเจริญกุศลเนื่อง ๆ เพื่อสะสมความเข้าใจ เพื่อละความเห็นผิด เป็นปัญญาให้เกิดขึ้นมีขึ้น
นี่แหละคือภาระจริง ๆ ของชีวิตในชีวิตประจำวันท่ี่ควรทราบ ควรศึกษาให้เข้าใจในสิ่งที่มีจริง ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ ตามความเป็นจริง สรุปแล้วขันธ์ ๕ ก็คือ ธรรมะ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ การศึกษาธรรมะทำให้เรารู้จักตัวเราตามความเป็นจริง ท่านผู้อ่านก็คงจะพอเข้าใจแล้วนะคะว่า ภาระของท่านจริง ๆ คืออะไร
สำหรับบทความนี้ ฉันคิดว่าคงจะเป็นประโยชน์พอสมควร สำหรับท่านผู้สนใจธรรมะทุกท่านนะคะ
หากว่ามีข้อความใดขาดตกบกพร่อง ด้วยความด้อยปัญญาของผู้เขียน ก็ขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ณ ที่นี้ด้วย