หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

กุศลกับอกุศล




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน

ชีวิตคนเรานี้แสนสั้นมากเพียงแค่ขณะจิตเดียวเท่านั้น เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสืบต่อทุกขณะ รวดเร็วมาก...โลกที่สว่างก็มีเพียงน้อยนิด คือโลกทางตา เราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยจิตเห็น (จักขุวิญญาณ) ซึ่งเกิดที่ตา....ส่วนทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย นั้นเป็นโลกที่มืดสนิท.....แต่โลกทางใจไม่มืดสนิทมีความพิเศษคือ  สามารถเห็นได้เหมือนเห็นจริง ๆ เรียกว่า "เห็นด้วยจิต" ตัวอย่างเช่น  รูปที่มาปรากฏให้ตาเห็น  ดับไปตั้งนานแล้ว แต่ทางใจ..จิตยังนึกเห็นรูปนั้นเหมือนกับว่ารูปนั้นยังคงอยู่   เสียงที่ปรากฏให้หูได้ยิน ดับไปตั้งนานแล้ว แต่ทางใจ จิตยังคงเหมือนได้ยินเสียงนั้นอยู่  ทางทวารอื่น ๆ ก็นัยเดียวกัน

การปรากฏของรูปธรรม อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ติง ไหว) และนามธรรม ได้แก่ จิตเจตสิก ทางทวารทั้ง ๖ นี้... เป็นธรรมะเป็นธรรมชาติที่มีความไม่เที่ยง (อนิจจัง)...เพราะความไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ (ทุกขัง)....ธรรมะไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของใคร (อนัตตา)....ลักษณะธรรมชาติ ๓ อย่างนี้ เรียกว่า พระไตรลักษณ์...ทุกชีวิตตกอยู่ภายใต้ของกฎแห่งธรรมชาติหรือกฏไตรลักษณ์....ยกเว้นพระอรหันต์ท่านอยู่เหนือกฎธรรมชาตินี้  เพราะเหตุว่าท่านได้ประหารอนุสัยกิเลสจนเป็นสมุจเฉทแล้ว สิ้นภพชาติแล้ว

ชีวิตในแต่ละวันเป็นไป กับความเพลิดเพลินยินดีพอใจติดข้องใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส  เมื่อสติไม่ตามระลึกรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏ เมื่อนั้นอกุศลจิตเกิด...เป็นความทุกข์ก็ดับไปเป็นธรรมดา  เมื่อใดมีสติ เมื่อนั้นจิตเป็นกุศลจิตเป็นสุข

อกุศลเป็นเหมือน "ศัตรู" ก็หมายถึงอกุศลจิตของเรานั่นเอง...เราควรระวังไม่ให้อกุศลจิตเกิดขึ้น  ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่ากุศลจิตและอกุศลจิตแตกต่างกันอย่างไร  ถ้าไม่เข้าใจในพระธรรมก็อาจทำให้เราหลง ไปยึดเอาศัตรูมาเป็นมิตรได้ คือหลงยินดีพอใจชื่นชมกับศัตรู  ก็หมายถึง "โลภะ" ความยินดีพอใจติดข้องต้องการ อยากได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่รู้จักพอ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่นำความสุขมาให้ แท้จริงแล้ว "โลภะ" เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวง 

ทำไมจิตจึงมีทั้งกุศลจิตและอกุศลจิต....การที่จิตบางครั้งเป็นกุศลจิตและบางครั้งเป็นอกุศลจิตนั้น....เพราะเหตุว่ามีธรรมะประเภทหนึ่งชื่อว่า "เจตสิก" เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต ดับกับจิต ประกอบกับจิตไม่แยกจากจิตเลย รู้อารมณ์เดียวกับจิต..... เป็นธรรมะปรุงแต่งจิต (สังขารธรรม)ให้เป็นไปในทางกุศลและอกุศล....เจตสิกมีทั้งหมด ๕๒ ดวง (รายละเอียดไว้คราวต่อไป)

เรื่องกุศลและอกุศลนี้เป็นธรรมะที่ควรศึกษาเพื่อน้อมมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะได้ไม่หลงชื่นชมยินดียึดเอา "ศัตรู" (อกุศล) มาเป็นมิตรอีกต่อไปนะคะ

หากข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขอโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ.....ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่าน