หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ส.ค.ส.ปีใหม่ ๒๕๕๖


                       
                                               
พรปีใหม่แด่.....ท่านผู้อ่านทุกท่าน


Happy   new   Year   2013



                                                              ในศุภวาระดิถีขึ้นปีใหม่

                                      ขออำนวยพรให้ท่านจงประสพแต่ความสุข  ความเจริญ


                                                       ในสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ


                                                               ...................................

วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2555

พระอริยบุคคล




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

พระอริยบุคคลมี ๔ ระดับขั้น แบ่งตามระดับความเบาบางของกิเลสที่ดับ  ที่ละด้วยปัญญาตามระดับความแก่กล้าของอินทรีย์  และความสมบูรณ์ของศีล สมาธิและปัญญาแตกต่างกัน

พระโสดาบัน....ละสักกายทิฏฐิ  ละวิจิกิจฉา  ละสีลัพพตปรามาส  พระโสดาบันยังมีความยินดีพอใจในกามอารมณ์อยู่  ยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น รส  โผฏฐัพพะ แต่พระโสดาบันไม่ล่วงศีลห้า

พระสกทาคามี....ทำความยินดีพอใจในรูป  เสียง  กลิ่น  รส  โผฎฐัพพะ ให้เบาบางลง  ยังละกิเลสคือโทสะหรือปฏิฆะยังไม่ได้  พระสกทาคามีมีศีล ๘ เป็นปรกติเสมอในเพศคฤหัสถ์  มีศีลสมบูรณ์ แต่ยังไม่สมบูรณ์ด้วยสมาธิและปัญญา

พระอคานามี....ละกามราคะ และปฏิฆะได้  สมบูรณ์ด้วยศีลและสมาธิ  แต่ยังไม่สมบูรณ์ด้วยปัญญา

พระอรหันต์.....ละสังโยชน์ได้ทั้งหมด ละมานะและละอวิชชาได้ทั้งสิ้น หมดกิจในพระพุทธศาสนา

การที่จะทราบได้ว่าบุคคลใดเป็นพระอริยบุคคล  ก็จะต้องเข้าใจหนทางปฏิบัติ เพื่อตวามเป็นพระอริยบุคคลเสียก่อน  และจะต้องเป็นผู้มีปัญญา ที่เสมอหรือมีปัญญาเหนือกว่าบุคคลนั้น  จึงจะสามารถรู้ได้  ต้องมีความเห็นถูกและตรงตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้  ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะดับกิเลสได้

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการฟังธรรม  ศึกษาธรรม  พิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  อบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกว่าปัญญาจะแก่กล้า สามารถประหารกิเลสตามลำดับขั้น  บรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคล  ก็จะสามารถรู้ได้ด้วยปัญญา ว่าบุคคลใดเป็นพระอริยบุคคล


                                                      ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                               ..................................

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

จิตอยู่ส่วนไหนของร่างกาย




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ทางตา  ทางหู  ทางจมูก  ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ  แต่สำหรับเจตสิกนั้นเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมกับจิต  รู้อารมณ์เดียวกับจิตด้วย  เช่น  ขณะที่เห็นแล้วมีความพอใจ หรือไม่พอใจ  ความพอใจหรือไม่พอใจนั้น เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต


จิต มีที่เกิด ๖ ที่  เรียกว่า  "วัตถุ ๖"  เป็นรูป ๖ รูปคือ

- จักขุปสาทรูป  เป็นที่เกิดของ  จักขุวิญญาณ  จิตเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

- โสตปสาทรูป  เป็นที่เกิดของ  โสตวิญญาณ  จิตได้ยินเสียงต่าง ๆ ที่กำลังปรากฏในขณะนี้

- ฆานปสาทรูปที่กลางจมูก  เป็นที่เกิดของ  ฆานวิญญาณ  จิตที่ได้กลิ่นที่กำลังปรากฏในขณะนี้

- ชิวหาปสาทรูป  เป็นที่เกิดของ  ชิวหาวิญญาณ  จิตที่ลิ้มรสที่กำลังปรากฏในขณะนี้

- กายปสาทรูปที่ซึมซาบอยู่ทั่วร่างกาย  เป็นที่เกิดของ  กายวิญญาณ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเย็นบ้าง ร้อนบ้าง  อ่อนบ้าง  หรือแข็งบ้าง ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ และ

- หทยวัตถุ  เป็นวัตถุที่ ๖  เป็นที่เกิดของจิตหรือมโนวิญญาณ อยู่ที่กลางหัวใจ



                                                 ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                               ......................................................

วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

มโนกรรมไม่ใช่เพียงแค่คิดในใจ




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เรื่องของมโนกรรม ไม่ใช่เพียงแค่คิดอยู่ในใจ  คิดไปทั้งวัน ถ้าไม่ได้กระทำกรรมตามที่คิดก็ไม่สำเร็จ เช่น อยากจะได้ของคนอื่น แล้วก็นึกอยู่ในใจ ของนั้นก็จะมาเป็นของท่านไม่ได้เลย

มโนกรรมจะสำเร็จได้ ก็จะต้องมีการล่วงออกไปทางกาย หรือทางวาจา  แต่ว่าสำหรับการกระทำทางกายที่ไม่เป็นมโนกรรมก็มี  คือเป็นแต่เพียงกายกรรมเท่านั้น  เช่น เดินไปเห็นผลไม้หล่นอยู่ใต้ต้น เกิดความอยากได้โดยไม่คิดมาก่อน  แล้วก็หยิบเอาผลไม้นั้นไป  ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม  แต่ไม่เป็นมโนกรรม

เพราะฉะนั้น กายกรรมไม่เป็นมโนกรรม  วจีกรรมไม่เป็นมโนกรรม  ที่แสดงเรื่องของกรรม ๓  (กายกรรม  วจีกรรม  มโนกรรม) ก็เพื่อที่จะแยกให้เห็นว่า  กายกรรมไม่ใช่มโนกรรม  วจีกรรมไม่ใช่มโนกรรม

แต่สำหรับมโนกรรมที่เป็นมโนกรรม โดยคิดอยู่ในใจเฉย ๆ ไม่ได้ล่วงไปทางกาย ทางวาจานั่น  ไม่สามารถที่จะสำเร็จลงไปได้  แต่ว่าต่างกับกายกรรมและวจีกรรม  ถ้าทางมโนกรรมมีความตั้งใจเกิดขึ้นทางใจก่อน  จึงจะจัดว่าเป็นมโนกรรม

ถ้าโกรธคนหนึ่งแล้วก็คิดที่จะฆ่าคนนั้น  แล้วก็จ้างให้คนอื่นไปฆ่าคนนั้น  ขณะนั้นการฆ่าที่สำเร็จลงไปเป็นมโนกรรม  แม้ว่าเป็นปาณาติบาตซึ่งเป็นข้อของกายกรรมก็จริง  แต่กรรมนั้นสำเร็จลง เพราะมโนกรรม  ไม่ใช่เพียงกายกรรม

แต่ถ้าโกรธระงับไม่อยู่ เลยเกิดประทุษร้ายคนนั้น แล้วคนนั้นตาย  ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม  ซึ่งไม่มีความผูกพยาบาทคิดมาก่อนเลยว่า ต้องการที่จะฆ่าคนนั้น  แต่เกิดบันดาลโทสะ หรือป้องกันตัวหรืออะไรก็ตาม  แต่ซึ่งทำให้บุคคลนั้นตายไป  ขณะนั้นก็เป็นกายกรรม ซึ่งไม่ใช่มโนกรรม

เพราะฉะนั้น  องค์ของมโนกรรมก็ดี หรือองค์ของกายกรรม  วจีกรรมก็ดี เป็นการแสดงให้เห็นว่า  ผลที่เกิดขึ้นจากกาย จากวาจานั้น ๆ  เป็นกายกรรม หรือว่าเป็นมโนกรรม.


                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                        ...........................................











วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2555

ผลของกรรมมี สวรรค์และนรกมี





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอกล่าวถึง กรรมสูตรที่ ๑ ในอังคุตตรนิกาย ทสกนิกาย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผลของกรรมมี และนรกสวรรค์มี

ข้อความในอังคุตตรนิกาย  ทสกนิบาต  กรรมสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๙๔ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรม ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า  พระผู้มีพระภาคเองตรัสว่า  เราไม่รู้แล้ว  ย่อมไม่กล่าว  แต่เพราะเหตุว่า ทรงรู้ว่า  ความสิ้นสุดแห่งกรรมที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้นมี

ทุกคนอาจจะคิดว่า  ในชีวิตของแต่ละท่าน วันหนึ่ง ๆ ก็ไม่ได้กระทำกรรมอะไร  แล้วทำไมสังสารวัฏถึงจะมียืดยาวออกไปอย่างไม่สิ้นสุด  ก็ดูวันนี้เหมือนกับว่าไม่ได้กระทำกรรมอะไร   แล้วจะมีเหตุปัจจัยอะไรที่จะทำให้ต้องเกิดอีก ตายอีก  เกิดอีก  ตายอีก ไม่สิ้นสุด......กรรมทั้งหลายที่ได้กระทำแล้ว ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสม

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตประจำวัน  ถ้าคิดว่าไม่ได้กระทำกรรม  แต่ความจริงได้กระทำแล้ว บางอย่างเป็นกายกรรม  บางอย่างเป็นวจีกรรม  บางอย่างเป็นมโนกรรมที่ตั้งใจกระทำ  แล้วก็ไม่สูญหาย กรรมทุกกรรมที่ได้กระทำแล้ว  เกิดดับสะสมสืบต่ออยู่ในจิต  เป็นเหตุที่จะให้วิบากเกิดขึ้น  ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

เราไม่รู้แล้ว ย่อมไม่กล่าวความสิ้นสุดแห่งกรรม ที่สัตว์ตั้งใจกระทำสั่งสมขึ้น

ถ้าวิบากยังไม่เกิด  กรรมจะสิ้นสุดได้ไหม  เหตุมีแล้ว  ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง  ทางใจบ้าง สั่งสมไปเรื่อย ๆ  และถ้าผลคือวิบากของกรรมนั้นยังไม่เกิด จะถือว่ากรรม คือ ความตั้งใจกระทำ กายกรรมบ้าง วจีกรรมบ้างเหล่านั้นที่สั่งสมอยู่ในจิต  จะหมดสิ้นไปได้ไหม.......ในเมื่อผลยังไม่เกิดขึ้น  กรรมจะหมดสิ้นไปไม่ได้เลย......เมื่อเหตุ คือกรรมที่ได้กระทำและสั่งสมแล้ว  ทุกคนก็ต้องคอยรับวิบาก  คือ ผลของกรรมนั้น ๆ โดยไม่รู้ตัวเลย  ถ้าสติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึก ไม่พิจารณาว่า  ได้กระทำอกุศลกรรมอะไรแล้วบ้าง  หรือว่าได้กระทำกุศลกรรมอะไรแล้วบ้าง

นี่เป็นเหตุที่ทุกท่าน จะต้องพิจารณากาย  วาจา  ใจของตนเองอย่างละเอียดจริง ๆ  เพราะเหตุว่าเป็นความตั้งใจที่กระทำกรรม ที่สั่งสมเพื่อที่จะให้วิบากเกิดขึ้น  จึงเป็นเหตุให้สังสารวัฏไม่หมดสิ้น

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็วิบากนั้นแล  อันสัตว์ผู้ทำ  พึงได้เสวยในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมเวทนียะ) ในอัตภาพถัดไป (อุปปัชชเวทนียะ)  หรือในอัตภาพต่อ ๆ ไป (อปราปรเวทนียะ)

เพราะฉะนั้น บางท่านอาจจะกระทำอกุศลกรรม  แล้วก็คิดว่ายังไม่ได้รับผลของอกุศลกรรม  สบายดี  พ้นเคราะห์พ้นกรรม  แต่ความจริงไม่พ้น เพราะเหตุว่าวิบากนั้นแล  อันสัตว์ผู้ทำ พึงได้เสวย คือทำให้เกิดผล ได้รับวิบากในปัจจุบัน  หรือในอัตภาพถัดไป คือในชาติหน้า หรือในอัตภาพต่อ ไป  เหมือนอย่างในชาตินี้ จะได้รับผลของอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมก็ตามแต่  เป็นผลของกรรมที่ได้สั่งสมมาแล้วในสังสารวัฏ  อาจจะเป็นกรรมในชาตินี้  หรือกรรมในชาติก่อน หรือกรรมในชาติก่อน ๆ โน้นก็ได้.


                                                    ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์


                                                      ...............................................








วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

อะไรเป็นปัจจัยให้ความสงบเกิด





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

ความสงบตามปรกติควรให้มีเป็นเชื้อเป็นทุนอยู่เรื่อย ๆ  เพื่อที่ว่าเมื่ออารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดของสมถะภาวนาปรากฏ จิตของท่านก็จะสามารถที่จะสงบและอาจจะสามารถสงบมั่นคงขึ้น  เพราะว่ามีปัจจัยในการที่เคยอบรมความสงบเป็นปรกติในชีวิตประจำวัน  เมื่อปัญญารู้ลักษณะของความสงบในขณะที่กำลังจะกระทำกายหรือวาจา  ด้วยโลภะหรือด้วยอกุศลใด ๆ ก็ตาม ให้ระลึกว่าขณะนั้นสงบหรือไม่สงบเสียก่อน เพียงเท่านี้ แล้วก็จะรู้ว่า ถ้าปัญญาเกิดในขณะนั้น ก็จะรู้วิธีที่ว่า ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบแม้ในขณะนั้น  นั้นคือปัญญาที่รู้หนทางวิธีที่จะสงบ

 ต้องเป็นปัญญาที่รู้ว่าจะสงบอย่างไร  แล้วความสงบจึงจะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ  แต่ถ้าขณะนั้นปัญญาไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะความต่างกันของความสงบ  ก็จะมีความต้องการความสงบอย่างอื่นขึ้น  เช่น สนใจอยากรู้ว่า อานาปานสติเป็นยังไง  มุ่งที่จะไปหาอานาปานสติ โดยคิดว่าจะสงบโดยการไปจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ โดยไม่รู้ลักษณะที่ว่า ขณะจะฆ่าสัตว์  ขณะที่จะทำทุจริต ขณะที่เป็นอกุศลจิต  ขณะนั้นจิตจะสงบได้อย่างไร

ถ้าปัญญารู้หนทาง  ความสงบก็จะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ เนื่อง ๆ  และหนทางที่จะเป็นความสงบถึงขั้นอุปจารสมาธิกับอัปนาสมาธินั้น ก็แสนไกลมาก  ยากที่จะถึงได้  เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านพิจารณาตัวท่านเองว่า ตามความเป็นจริงแล้ว ท่านเป็นผู้ที่สมควรที่ฌานจิตจะเกิดไหม  ถ้าไม่สมควร  แล้วเรื่องอะไรที่จะไปพากเพียรด้วยความต้องการที่จะทำ  โดยที่ไม่สะสมเหตุปัจจัยคือความสงบเท่าที่จะมีได้ในชั่วขณะหนึ่ง ๆ   แทนอกุศลจิตซึ่งเกิดอยู่บ่อย ๆ


                                                     ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์

                                                        .........................................







วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วันเข้าพรรษา ปี พ.ศ.๒๕๕๕

วันเข้าพรรษา  เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา....คำว่า "เข้าพรรษา"  แปลว่า  "พักฝน"  หมายถึง  พระภิกษุสงฆ์จะต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งในช่วงฤดูฝน  เพราะเหตุว่าในสมัยพุทธกาล พระภิกษุสงฆ์มีหน้าที่จะต้องจารืกเพื่อโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แก่ประชาชนในสถานที่ต่าง ๆ  จึงไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้กระทั่งในฤดูฝน.....ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่น ๆ ของชาวนาจนเสียหาย  พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด ๓ เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มต้ังแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘  ของทุกปี  เรียกว่า "ปุริมพรรษา"

กรณีที่ปีใดมีเดือน ๘ สองหน  ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา"  เว้นแต่ว่ามีกิจธุระจำเป็น และเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันเดียวกัน  พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้  คราวหนึ่งไม่เกิน ๗ คืน  เรียกว่ "สัตตาพะ"  หากเกินกำหนดนี้ ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์จากการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด

ข้อยกเว้นสำหรับให้ภิกษุสงฆ์จำพรรษาที่อื่นได้  โดยไม่ถือเป็นการขาดพรรษา เว้นแต่เกิน ๗ วัน  ได้แก่

๑. การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
๒. การไประงับภิกษุสามเณร ที่อยากจะสึก มิให้สึกได้
๓. การไปเพื่อธุระของคณะสงฆ์  เช่น การไปหาอุปกรณ์เพื่อซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุด
๔. หากมีทายกนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

นอกจากที่กล่าวมานี้ หากระหว่างการเดินทางตรงกับวันหยุดเข้าพรรษาพอดี  พระภิกษุสงฆ์เดินทางมาทันถึงในหมู่บ้าน หรือในเมืองก็หาที่พักได้ตามสมควร  แต่ถ้ามาไม่ทันก็ต้องพึ่งโคนไม้ใหญ่เป็นที่พักแรม  ชาวบ้านเห็นพระได้รับความลำบากมาก จึงได้ช่วยกันปลูกเพิงที่พัก เพื่อให้ท่านอาศัยพักฝนหรือพักแรม รวมกันหลาย ๆ องค์  ที่พักนี้เรียกว่า "วิหาร"  แปลว่า  ที่อยู่สงฆ์........เมื่อหมดฤดูฝนแล้ว พระสงฆ์ท่านก็ออกทำกิจของท่านตามปกติ  พอถึงหน้าฝนอีกท่านก็กลับมาพักที่วิหารได้อีก เพราะสะดวกกว่าอยู่โคนไม้  แต่บางท่านก็อยู่ประจำเลย  บางทีก็มีเศรษฐีใจบุญมีจิตศรัทธาเสื่อมใสในพระพุทธศาสนา  สร้างที่พักในที่สงบที่ไม่ห่างไกลชุมชนมากถวาย ที่พักนี้เรียกว่า "อาราม"  เพื่อให้เป็นที่อยู่ของสงฆ์ดังเช่นในปัจจุบันนี้

ในวันก่อนเข้าพรรษา ชาวบ้านก็จะพากันไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ  ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา ก็มีการบำเพ็ญกุศลด้วยการทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการะบูชา  และของใช้ที่จำเป็นแด่พระสงฆ์ มีการฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัดด้วย  บางคนก็มีการอธิษฐานจิตงดเว้นอบายมุขทั้งหลายตลอดพรรษา บางคนก็บวชจำพรรษาเพื่อศึกษาพระธรรมเป็นกรณีพิเศษ เพราะมีความเชื่อกันว่า การบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษในช่วยเข้าพรรษานี้ มีอานิสงส์มาก

นอกจากนี้แล้ว ยังมีประเพณีที่สำคัญที่ได้กระทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนนี้ คือ "ประเพณีหล่อเทียนเข้าพรรษา"  ซึ่งจะกระทำกันเมื่อใกล้จะถึงฤดูเข้าพรรษา  การหล่อเทียนเข้าพรรษานี้กระทำกันทุกปี  เพราะว่าในระยะเข้าพรรษาพระภิกษุสงฆ์ จะต้องมีการสวดมนต์ทำวัตรทุกเช้า-เย็น และในการนี้ก็จะต้องมีธูป เทียนจุดบูชาพระรัตนตรัยด้วย  ดังนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงได้มีการหล่อเทียนเข้าพรรษาถวาย  เพราะมีความเชื่อกันว่า การให้ทานด้วยเทียนซึ่งให้แสงสว่าง จะมีอานิสงส์ทำให้เพิ่มพูนด้านปัญญายิ่งขึ้น  ก่อนที่จะนำเทียนเข้าพรรษาไปถวายวัด ก็จะมีการแห่เทียนกันอย่างใหญ่โต บางแห่งมีการประกวดความงามของเทียนด้วย หลังจากแห่ให้คนได้ชมความงามของเทียนแล้ว ก็มีการแห่เทียนรอบโบสถ์ ๓ รอบแล้วจึงนำไปถวายวัด

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ นี้ "วันเข้าพรรษา"  ตรงกับวันศุกร์ที่ ๓ สิงหาคม  ในวันนี้  ทางสถานที่ราชการ  หน่วยงานต่าง ๆ และโรงเรียนต่าง ๆ  หยุด ๑ วัน เพื่อให้ประชาชนได้ไปบำเพ็ญบุญกุศลกันที่วัด เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวด้วย.


                                                 
                                                    ขออนุโมทนาบุญค่ะ

                                        ..................................................



                                               









วันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วันอาสาฬหบูชา ปี พ.ศ.๒๕๕๕





ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด้จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
  
ทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เรียกว่า "วันอาสาฬหบูชา" ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันที่ ๒ สิงหาคม

คำว่า "อาสาฬหบูชา"  เป็นภาษาบาลี มีความหมายดังนี้  "อาสาฬห" แปลว่า เดือน ๘  ทางจันทรคติ......คำว่า  "บูชา"  แปลว่า การบูชา  เมื่อรวมเป็นคำเดียวมีความหมายว่า การบูชาในเดือน ๘  หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน ๘ ของพระพุทธศาสนา

วันอาสาฬหบูชา คือ วันที่พระสมัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก  หลังตรัสรู้ได้ ๒ เดือน พระองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา โปรดพระปัญจวัคคีทั้ง ๕  ได้แก่  พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ  พระภัททิยะ  พระมหานาม  และพระอัสสชิ  ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ......ในครั้งนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุธรรมและได้ขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา  จึงถือเป็นวันสำคัญยิ่งในวันนั้น เพราะได้มีพระรัตนตรัยครอบองค์สามครั้งแรกในโลกเกิดขึ้น ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เหตุการณ์ยิ่งใหญ่นี้ได้เกิดขึ้นก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีทั้ง ๕ นั้น  เรียกว่า "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แปลว่า พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม ซึ่งหลังจากปฐมเทศนาจบลงแล้ว  พระอัญญาโญฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม  บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุุคคลขั้นแรก คือ พระโสดาบัน และได้ขอบวชเป็นพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา  การอุปสมบทในครั้งนั้น เป็นการบวชด้วยวิธี "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" โดยพระพุทธเจ้าได้ทรงประทานอุปสมบทให้ พระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา และในกาลต่อมา พระวัปปะ  พระภัททิยะ  พระมหานามะ  และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบททุกท่านตามลำดับ

หัวใจสำคัญของการปฐมเทศนา มีสาระธรรมที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

๑. ทางสายกลาง หรือมัชฌิมาปฏิปทา  หมายถึงข้อปฏิบัติที่เป็นกลาง ๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายได้  และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยกตัวอย่างทางที่ไม่ใช่สายกลาง หมายถึงทางสุดโต่ง ๒ ทาง ได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค กับ อัตตกิลมถานุโยค

          - กามสุขขัลลิกานุโยค  หมายถึง การหมกมุ่นหลงใหลเพลิดเพลิน มัวเมาในความสุขทางกามคุณทั้งหลาย  อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส  สิ่งกระทบสัมผัสทางกาย ซึ่งเป็นทางที่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้

         - อัตตกิลมถานุโยค หมายถึง การทรมานตน การทำตนให้ลำบาก การดำเนินชีวิตอย่างไร้จุดหมาย เช่น การบำเพ็ญตบะทรมานกายวิธีต่าง ๆ  หรืออาศัยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งการดำเนินชีวิตเช่นนี้ ก็ไร้ประโยชน์ มีแต่ความทุกข์ไม่ใช่ทางที่จะทำให้เกิดปัญญารู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมได้  ไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง

แล้วพระองค์ก็ได้ทรงแสดงทางที่ถูกต้อง ทางเพื่อความดับทุกข์ทั้งปวง โดยมีหลักในการปฏิบัติ มีองค์ประกอบ ๘ ประการ  เรียกว่า มรรค มีองค์ ๘ หรือ อริยอัฏฐังคิกมัคค์  ได้แก่

        ๑. สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ  คือ รู้และเข้าใจถูกต้อง  เห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริง

        ๒. สัมมาสังกัปปะ  ดำริชอบ  คือ  คิดที่จะออกจากการติดข้องในกามทั้งปวง  ไม่คิดอาฆาต     พยาบาท  ไม่คิดที่จะเบียดเบียนผู้อื่น

       ๓. สัมมาวาจา  เจรจาชอบ คือ พูดจาสุภาพ พูดแต่ความจริง ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ

      ๔. สัมมากัมนันตะ  กระทำชอบ  คือ ทำการงานที่สุจริต รู้จักรับผิดชอบในหน้าที่การงาน

      ๕. สัมมาอาชีวะ  อาชีพชอบ  คือ ประกอบอาทีพที่ไม่ผิดศีล  ไม่ผิดกฏระเบียบประเพณี และไม่ผิดกฏหมาย

      ๖. สัมมาวายามะ  ความพยายามชอบ  คือ  เพียรละสิ่งอกุศล  เพียรสะสมกุศลให้เพิ่มขึ้น เพียรระวังไม่ให้อกุศลเกิด  เพียรระวังกุศลที่มีไม่ให้เสื่อมไป

     ๗. สัมมาสติ  ระลึกชอบ  คือ  เจริญสติอยู่เนื่อง ๆ ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ตามความเป็นจริง

    ๘. สัมมาสมาธิ  ตั้งใจมั่นชอบ  คือ  เจริญความสงบของจิตอยู่เนื่อง ๆ  จิตมีความสงบจากกิเลส


 ๒. อริยสัจ ๔  แปลว่า  ความจริงอันประเสริฐของพระอริยะ หรือบุคคลผู้ห่างไกลจากกิเลส  ได้แก่

     ๑. ทุกข์  คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์  ต้องกำหนดรู้ตามความเป็นจริงว่า  ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา เป็นเพียงสภาวธรรมปรากฏให้สติระลึกรู้ตามความเป็นจริง แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา

     ๒. สมุทัย  คือ  เหตุเกิดแห่งทุกข์  ต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงก็คือตัญหา ความติดข้องต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ

    ๓. นิโรธ  คือ  ความดับทุกข์ทั้งปวง วิมุตติ  เป็นโลกุตตรธรรม

    ๔. มรรค  คือ  ข้อปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์  อันได้แก่  มรรคมีองค์ ๘

 กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา  ทุกปี ๆ เมื่อถึงวันนี้  ก็จะมีการบำเพ็ญบุญด้วยการ ทำบุญ ตักบาตร ถือศีล  เวียนเทียน  สวดมนต์ปฏิบัติธรรม เพื่อน้อมจิตระลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ปฏิบัติเพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัวด้วย.

                         
                                 ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

                                                  ขออนุโมทนาค่ะ


                                        ........................................





วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปรมัตถธรรม บัญญัติธรรม สมมติธรรม





 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

ปรมัตถธรรม หมายถึงสิ่งที่มีจริง ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ขณะใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูป ขณะนั้นเป็นสมมติ

บัญญัติ หมายถึง คำหรือชื่อซึ่งใช้ เพื่อที่จะเรียกชื่อสิ่งที่มี หรือสิ่งที่ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่จริงหรือไม่จริง เช่น คำว่า "เวทนา" เป็นบัญญัติ เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกที่มีจริง ๆ  "เวทนา" เป็นสภาพรู้สึก ดีใจ เสียใจหรือเฉย ๆ เวทนาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่าบัญญัติบางคำก็หมายถึงสิ่งที่ไม่มีจริง บัญญัติแม้ว่าจะไม่มีโดยปรมัตถ์ แต่ก็เป็นอารมณ์ของจิตขณะหนึ่ง ๆ  (จิตตุปาทะ) หรือเป็นอารมณ์ของจิตที่เกิดขึ้น ได้แก่ทำอาการหรือมีสัณฐานเป็นต้น ให้เป็นเหตุกล่าวกัน เรียกกันให้รู้ความหมายกัน
จึงเรียกว่า "บัญญัติ" เช่น ธาตุดินก็เป็นเพียงอ่อนหรือแข็ง แต่ก็เรียกโดยสัณฐานรูปร่างลักษณะว่าเป็น จานบ้าง ชามบ้าง ช้อนบ้าง ส้อมบ้าง แม้ว่าคำบัญญัติเรียก จาน ชาม ช้อน ส้อม ไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ไม่มีลักษณะเป็นปรมัตถ์แท้ ๆ ต่างหากจากธาตุดิน แต่ก็เป็นเงาอรรถ คือให้รู้ถึงความหมายของสิ่งที่ให้เข้าใจในขณะนั้น โดยเทียบเคียงหรือเปรียบเทียบ ได้แก่ทำอาการ มีสัณฐานเป็นต้น ให้เป็นเหตุกล่าวกัน ธาตุดินมีจริง แต่ว่าถ้วย ชาม จาน ช้อน ส้อมเป็นบัญญัติ เพื่อให้รู้อรรถของสัณฐาน ซึ่งเหมือนเงาของปรมัตถ์ เพราะเหตุว่าเป็นสัณฐานที่ทำให้สามารถรู้ว่าหมายถึงอะไร

นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยเสียง ซึ่งเป็นบัญญัติให้รู้ความหมายของสิ่งที่ยึดถือ หรือสมมติกันว่าอะไร ทุกคนมีตาเห็นสิ่งต่าง ๆ ยึดถือสัณฐานของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏเป็นรูปร่างสัณฐานต่าง ๆ รู้ในอรรถของสิ่งที่สมมติ  สัตว์เดรัจฉานก็เห็น แต่ผู้ที่เป็นมนุษย์สามารถที่จะใช้เสียง เรียกสิ่งที่สมมติขึ้น ให้เข้าใจว่าหมายถึงสิ่งอะไร ในขณะที่สัตว์เดรัจฉานไม่มีความสามารถพอที่จะใช้เสียงได้อย่างมนุษย์ ที่จะบัญญัติได้อย่างละเอียด เพราะฉะนั้นจึงควรที่จะเข้าใจสภาพธรรมชนิดหนึ่ง คือ เสียงหรือสัทธรูป เมื่อมีการพูด มีการใช้เสียง จึงต้องใช้เสียงสำหรับบัญญัติเรียกสิ่งต่าง ๆ เสียงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าไม่มีเสียง นามหรือชื่อต่าง ๆ หรือคำทั้งหลายเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ก็จะมีไม่ได้ เราติดในบัญญัติทั้งหลาย คือ "ชื่อ" ซึ่งเรียกกันว่า สมมติ เพราะฉะนั้น บัญญัติก็คือ ชื่อซึ่งเรียกสิ่งสมมติหรือปรมัตถธรรม เพื่อให้เข้าใจความหมายนั่นเอง

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย แ และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

จิตอาศัยรูปเกิด






 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ศรัทธาในธรรมทุกท่าน

ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดโดยไม่อาศัยรูปเกิดไม่ได้เลย ตั้งแต่เริ่มแรกเกิดในครรภ์มารดา รูปจะเล็กมาก และในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็จะมีกลุ่มรูปซึ่งเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพราะว่าเป็นกลุ่มของรูปที่เพิ่งเกิด กลุ่มของรูป ภาษาบาลีเรียกว่า "กลาป" (กะ-ลา-ปะ) มี ๓ กลาป ซึ่งเกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต.....กลุ่ม ๑ เป็นกลุ่มของ กายปสาทรูป.... อีกกลุ่ม ๑ เป็นกลุ่มของ ภาวะรูป..... และอีกกลุ่ม ๑ เป็นกลุ่มที่เกิดของ จิต ชื่อว่า "หทยรูป"

จิตจะเกิดนอกรูปหรือเกิดโดยไม่อาศัยรูปเกิดไม่ได้เลย ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัส และขณะที่คิดนึก จะมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตเกิดขึ้น เวลาที่เกิดใหม่ ๆ ยังไม่มีรูปร่างของหัวใจ แต่ที่เป็นหทยรูป เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่เป็นที่อาศัยเกิดของปฏิสนธิจิต เมื่อรูปร่างกายเจริญเติบโตขึ้นจนครบถ้วนสมบูรณ์ รูปที่เป็นที่เกิดของจิตซึ่งเป็นหทยรูปนั้น จะอยู่ที่กลางหัวใจ

รูปที่เป็นที่เกิดของจิต ซึ่งเป็นหทยรูปนี้ เป็นรูปที่เกิดเพราะ "กรรม"  รูปที่เป็นที่เกิดของจิตซึ่งเป็นหทยรูป ไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูปเกิดดับอย่างรวดเร็ว หทยวัตถุซึ่งเป็นที่อาศัยเกิดของจิตอื่น ๆ นอกจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้กระทบสัมผัสแล้ว จิตอื่นทั้งหมดเกิดที่หทยวัตถุ และหทยวัตถุนี้เกิดจากกรรม ในขณะนี้รูปกำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว และกรรมก็ทำให้รูปเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน

ขณะนี้รูปใดไม่ปรากฏ แสดงว่ารูปนั้นเกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก ที่เราคิดว่ามีตัวตน ร่างกาย แขน ขา มือ เท้า แต่ตามความเป็นจริงแล้ว รูปเกิดแล้วดับเร็วมาก ฉะนั้น รูปใดแม้ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วก็ดับแล้ว

บทความนี้หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผูอ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขอนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านค่ะ


                                         ..........................................

วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สภาวลักษณะของจิต







ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

สภาวะลักษณะของจิต คือ ลักษณะเฉพาะของจิต....สามัญลักษณะของจิต ได้แก่ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจลักษณะ หมายถึงลักษณะที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นั่นก็เป็นทุกข์...สภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล....ไตรลักษณ์ เป็นลักษณะที่ไม่แยกจากกัน คือจะไม่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ที่จะเกิดเพียงลักษณะเดียว

สภาวลักษณะของจิต คือลักษณะเฉพาะของจิต มี ๔ ลักษณะ

๑. อรัมมนวิชานนลักขณัง มีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ

๒. ปุพพังคมรสัง คือ มีความเป็นประธาน เพราะต้องเกิดขึ้นทุกขณะ เป็นหัวหน้าเป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์คือ เป็นกิจหรือหน้าที่ เช่น จิตที่เกิดทางตา (จักขุวิญญาณ) ทำหน้าที่เห็นสี...จิตที่เกิดทางหู (โสตวิญญาณ) ทำหน้าที่ได้ยิน...จิตเกิดทางจมูก (ฆานวิญญาณ) ทำหน้าที่ได้กลิ่น....จิตเกิดทางลิ้น (ชิวหาวิญญาณ) ทำหน้าที่ลิ้มรส....จิตเกิดทางกาย (กายวิญญาณ) ทำหน้าที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว
จิตเกิดทางหทยวัตถุ (มโนวิญญาณ)....ทำหน้าที่รู้ความคิดนึก

๓. สันตานะปัจจุปัฏฐาน หมายถึง มีการสืบต่อเนื่อง คือ การเกิดดับสืบต่อกันเป็นปัจจุปัฏฐาน คือเป็นอาการปรากฏ

๔. นามรูปปทัฏฐานัง มีนามธรรมและรูปธรรม เป็นปฏัทฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ที่ว่าจิตมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ

สภาวลักษณะ หมายถึง ลักษณะที่มีอยู่ในตน เช่น ผัสสะ มีลักษณะกระทบอารมณ์, สัญญา มีลักษณะจำอารมณ์, สติ มีลักษณะระลึกรู้อารมณ์, จิตมีลักษณะรู้อารมณ์

ปัจจัตตลักษณะ หมายถึง ลักษณะเฉพาะตน.....สภาวลักษณะทั่วไปที่เป็นปรมัตถ์ ก็จะต้องมีลักษณะเฉพาะของตน

วิเสสะลักษณะ หมายถึง ลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ผัสสะมีลักษณะแตกต่างจากเวทนา  เวทนาก็มีลักษณะแตกต่างจากผัสสะ จิตมีลักษณะแตกต่างกับเจตสิก

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ

                                                  
                                                   ..............................

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทุกอย่างสำคัญที่ใจ






ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

ทุกอย่างเกิดขึ้นได้จริง ๆ  เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมที่จะให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่เป็นอย่างอื่น  ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย แล้วก็ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของ ๆ สิ่งใด ๆ ได้เลย เป็นเพียงความคิดเท่านั้น

ทุกคนมีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส การกระทบสัมผัสทางกายเหมือนกันหมด แล้วหลังจากที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสทางกายแล้วทางใจก็คิด  เป็นกุศลบ้างและอกุศลบ้าง จะทุกข์ใจหรือสุขใจนั้นก็ขึ้นอยู่ที่การสะสมของแต่ละบุคคล  เพราะฉะนั้นจึงสำคัญอยู่ที่ใจ ว่ามีความเข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้หรือไม่ ถ้ามีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะสามารถคลายความหวั่นไหวลงได้บ้าง

ทุกคนมีความเสมอกันก็คือ มีตาและก็สามารถเห็นสิ่งเดียวกัน มีหูเหมือนกัน ซึ่งได้ยินเสียงเดียวกัน ขณะที่ได้เห็นและได้ยินแล้ว สำคัญที่ใจขณะนั้น ถ้าไม่คิดก็ไม่เดือดร้อน คนร่ำรวยมีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล
แต่ใจเดือดร้อนมาก ทุกข์ก็เพราะใจคิด  ชีวิตดำเนินต่อไปอีกยาวนานแค่ไหนไม่อาจทราบได้ แต่ให้ทราบว่าอะไรจะเกิด ก็ต้องเกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้ไม่อยากมีทุกข์ก็เลือกไม่ได้

ความทุกข์จริง ๆ นั้นมิได้อยู่ที่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ความทุกข์จริง ๆ นั้นอยู่ที่การสะสมของจิต แล้วแต่ว่าขณะนั้นมีปัจจัยที่จะเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมะ ความเข้าใจในขณะนั้นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคัญบัญชาของใคร ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าได้

ดังนั้นถ้ามีความเข้าใจเพิ่มขึ้นมั่นคงขึ้น จิตก็จะไม่หวั่นไหว ขณะนั้นย่อมจะเป็นสุขมากกว่าคนที่มีความอยากเห็น  อยากได้ อยากมีทรัพย์สมบัติมาก ๆ ใจก็จะต้องหวั่นไหวด้วยความทุกข์


สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาในกศุลจิตกับทุกท่านด้วยค่ะ

วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ท่องเที่ยวไปในโลกทั้ง ๖





 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ศรัทธาในธรรมทุกท่าน

ชีวิตในแต่ละวันไม่พ้นไปจากโลกทั้ง ๖ จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สืบต่อวนเวียนท่องเที่ยวอยู่ ๖ ทาง ท่องเที่ยวเพราะเหตุว่าจิตไม่ได้เกิดอยู่ที่เดียว จิตก็ไม่ได้รู้อารมณ์เดียวเท่านั้น เมื่อมีปัจจัยที่จะให้จิตเกิด จิตก็เกิดขึ้น เช่น เมื่อมีปัจจัยที่จะให้จิตเห็นเกิดขึ้น จิตเห็นก็เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็ดับไป

เมื่อมีปัจจัยที่จะให้เสียงเกิด จิตได้ยินก็เกิดขึ้นได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ในกามาวจรภูมิ จิตก็จะวนเวียนไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ หมุนไปเรื่อย ๆ นี่ก็เป็นเรื่องของจิตที่รู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖  ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นก็ไม่มีอะไรทั้งหมด  กิเลสวัฏก็ไม่มี กรรมวัฏก็ไม่มี  วิปากวัฏก็ไม่มี แต่เพราะเหตุว่ามีจิตเกิดขึ้น เมื่อจิตเกิดขึ้นแต่ละขณะ ต้องมีอารมณ์ให้จิตรู้  เมื่อจิตเกิดแล้วก็มีกิเลสซึ่งทำให้เกิดกรรม......กรรมก็เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต  เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าจิตเกิดดับสืบต่อท่องเที่ยวอยู่ในโลกทั้ง ๖ นี้อย่างไม่ขาดสาย  และยังจะสืบต่อไปในภพหน้าชาติหน้าอีกไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังไม่ดับกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาร ก็ต้องกลับมาสู่โลกนี่อีก แล้วแต่เหตุปัจจัย

สำหรับบทความนี้หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านด้วยค่ะ

                                              ......................................

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปัญญาเกิดได้อย่างไร






ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน


ก่อนที่จะทราบว่าปัญญาเกิดได้อย่างไรนั้น ก็จะต้องรู้ก่อนว่าปัญญามีลักษณะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ จึงจะเป็นปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา....ที่กำลังเห็น กำลังได้ยินขณะนี้ ไม่ใช่เรา เป็นเพียงจิตแต่ละประเภทเกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย เช่น เห็นเดี๋ยวนี้เพราะมีสีปรากฏทางตาเป็นปัจจัย ได้ยินเดี๋ยวนี้เพราะมีเสียงปรากฏทางหูเป็นปัจจัย

เมื่อมีจักขุปสาทและมีสิ่งที่ปรากฏกระทบตา มีการเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะเหตุว่าจิตเห็นไม่ใช่จิตได้ยิน นี่ก็แสดงให้เห็นความต่างกันว่า คนหนึ่งจะมีจิตซ้อนกัน ๒-๓ ขณะไม่ได้เลย....ชีวิตดำรงอยู่แต่ละคนเพียงชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้น  ขณะที่เห็นนี่เป็นอนัตตา ไม่ใช่เราเห็น "เห็น" เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ขณะได้ยินก็เป็นอนัตตา เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการฟัง ฟังจนกระทั้งสามารถที่จะเป็นปัจจัยให้สติมีการระลึกได้ในขณะเห็นในขณะนี้ตามความเป็นจริง มิฉะนั้นก็จะมีแต่สมาธิ แล้วก็ไม่รู้ว่าปัญญานั้นรู้อะไร

ก่อนอื่นก็จะต้องเริ่มจากความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง....ปัญญาสามารถที่จะรู้ชีวิตประจำวันทุกขณะ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัส คิดนึก ปัญญาต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามปรกติตามความเป็นจริง และต้องรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เรา ไม่มีตัวตนเป็นเพียงธาตุ เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะเหตุว่าการเกิดดับรวดเร็ว จึงไม่สามารถที่จะประจักษ์การเกิดกับได้ จึงมีการจดจำสิ่งที่ปรากฏเหมือนว่าไม่ดับ จำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นปัญญาที่สามารถประหารกิเลสได้ ต้องประจักษ์ความจริงของโลก คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แล้วดับไปในขณะนี้ นั่นจึงจะเป็นปัญญาในพระพุทธศาสนา ซึ่งเริ่มจากปัญญาขั้นต้นด้วยการฟังธรรม อบรมเจริญให้ยิ่ง ๆ ขึ้น

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านด้วยค่ะ

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วันวิสาขบูชา ปี ๒๕๕๕





 



 


ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน


พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประสูติ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖  เมื่อก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี  เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ ๒๙ พรรษา ได้เสด็จออกบรรพชาเพื่อแสวงหาสัจธรรม และพระองค์ได้ตรัสรู้ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖  ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา  และได้ทรงเผยแผ่พระธรรม ที่พระองค์ตรัสรู้แก่เหล่าเทพ, เทวดาและมนุษย์ เป็นเวลาทั้งหมด ๔๕ ปี จนกระทั่งพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา จึงได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖  ฉะนั้นเมื่อเข้าปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ (+๔๕) เท่ากับว่าพระองค์ได้ตรัสมาแล้ว ๒,๖๐๐ ปี หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "๒๖ สัมพุทธศตวรรษ ศรีสัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า"

ในวันเพ็ญเดือน ๖ จึงเป็นวันที่สำคัญวันหนึ่งทางพระพุทธศาสนา คือเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกว่า "วันวิสาขบูชา" ในปีนี้ก็ได้เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นวันสำคัญของชาวพุทธวันหนึ่ง ที่จะได้บำเพ็ญกุศลเพื่อเป็นพุทธบูชามหาบารมี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระองค์ และเพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ดำรงยังยืนนาน คู่ประเทศชาติสืบต่อไป

ในปี ๒๕๕๕ นี้ วันวิสาขบูชาตรงกับวัน จันทร์ที่ ๔ มิถุนายน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะโรง ปีนี้ตามปฏิทินจันทรคติเป็นปีอธิกมาศ (เดือนแปดสองหน) ดังนั้นวันสำคัญทางศาสนาจึงเลื่อนไป ๑ เดือน

สำหรับบทความนี้หากมีข้อความใดปิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ


วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รอดจากภัยใหญ่ได้อย่างไร





ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

ภัยใหญ่ที่รอดได้ยากก็คือ อกุศล จะรอดจากอกุศลที่ท่วมล้นใจในแต่ละวันได้อย่างไร ทางที่จะรอดได้นั้นไม่ใช่ด้วยความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตน.....ตั้งแต่ตื่นเช้ามา เคยคิดบ้างไหมว่า จะรอดพ้นจากอกุศลและกิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต  สำหรับผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม และไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็จะไม่คิดที่จะฟังพระธรรม เพื่อขัดเกลากิเลสที่เศร้าหมอง ไม่คิดที่จะกระทำกรรมดีให้มากขึ้น จนสามารถรอดพ้นจากภัยใหญ่ได้....คนที่ไม่ได้ฟังธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เหมือนคนที่มีชีวิตอยู่ในโลกมืดสนิท เป็นโลกอีกโลกหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยภยันตราย เพียงแค่ตาเห็น หลังจากนั้นก็เต็มไปด้วยความคิดสารพัด เป็นเรื่องของกุศลบ้างและอกุศลบ้าง ส่วนใหญ่แล้วก็จะคิดเรื่องอกุศล ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นภัยใหญ่ของชีวิต

สำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังธรรม และพิจารณาธรรมอยู่เนื่อง ๆ  ก็จะเริ่มรู้ถึงภัยใหญ่ของชีวิตว่าเป็นอย่างไร อกุศลและกิเลสมีมาน้อยแค่ไหนตั้งแต่เช้ามา กิเลสและอกุศลซึ่งเกิดทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายและทางใจบ้าง แล้วจะรอดจากภัยใหญ่นี้ได้อย่างไร....ทางที่จะรอดจากภัยใหญ่ก็คือ เริ่มด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจ ซึ่งมีหนทางเดียว ขณะที่ฟังเข้าใจก็เป็นกุศล  และเป็นเหตุปัจจัยนำมาซึ่งกุศลอื่น ๆ ซึ่งเกิดเพราะความเห็นถูก (สัมมาทิฎฐิ) ความเข้าใจถูก  ถ้าคิดถึงภัยใหญ่ของสังสารวัฎฎ์ เหมือนคนจมอยู่ในห้วงน้ำ คืออกุศล และทางที่จะพ้นจากน้ำหรืออกุศล หรือพ้นจากสังสารวัฎฎ์จะมีไหม และจะต้องอบรมเจริญกุศลอย่างไร ด้วยความเพียรและความอดทนอย่างไร

ดังนั้นผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม จึงต้องฟังพระธรรมด้วยความเป็นผู้ตรง ไม่หวังในการประจักษ์แจ้งหรือความเป็นพระอริยบุคคล ไม่หวังและไม่รอในผลใด ๆ  ในขณะที่กำลังฟังธรรม ก็มีธรรมปรากฏ แล้วเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏแค่ไหน ต้องอาศัยความเพียรและความอดทน ฟังแล้วฟังอีกซ้ำ ๆ จนเป็นความเข้าใจ (ปัญญา) เพิ่มขึ้นและมั่นคง เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นอะไรจะเกิดก็ต้องเกิดแล้วก็ดับไป ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล บังคับบัญชาไม่ได้

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

นายที่มองไม่เห็น




 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

ท่านทราบไหมว่า สภาพธรรมอะไรที่คอยเป็นผู้บงการให้เราทำทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเสมือนผู้บังคับบัญาที่เรามองไม่เห็น และสภาพธรรมอะไรที่สามารถทำให้พ้นจากความหลงได้...การศึกษาธรรมะต้องเริ่มต้นด้วยการฟัง ก็ต้องทราบด้วยว่า เราฟังเพื่ออะไร จะได้ไม่หลงทาง แต่ละคำต้องใคร่ครวญ ไตร่ตรอง เป็นผู้ที่มีเหตุผล มีความเคารพในพระธรรม ต้องเป็นผู้ตรงต่อพระธรรม คำพูดนี้ผิดหรือถูก "สิ่งที่หมดไปแล้ว เราไม่สามารถรู้ได้ สิ่งที่ยังมาไม่ถึง เราก็ไม่สามารถรู้ได้"

ปัญญาสามารถเห็นตามความเป็นจริงตั้งแต่คำแรก คือ เป็นธรรมะ ขณะนี้กำลังมีสิ่งที่มีจริงปรากฏ "เห็น" เป็นสิ่งมีจริง หรือเข้าใจว่าเห็นเป็นธาตุ หรือเป็นธรรมะซึ่งเกิดขึ้นรู้ คือ เห็น และกว่าจะเข้าใจลักษณะของธรรมะตามความเป็นจริง ก็ต้องค่อย ๆ ฟังสะสมความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น โดยไม่หวังอะไร ซึ่งเป็นหนทางที่ยากมาก เมื่อเราทำอะไร ก็อดที่จะหวังผลไม่ได้ เพราะว่าเราได้สะสมโลภะไว้มากมาย "โลภะ" เป็นเสมือนผู้บังคับบัญชาที่มองไม่เห็น บงการให้เราทำตามทุกอย่างตลอดทั้งวัน

ปัญญาเท่านั้นที่สามารถเห็น "โลภะ" แล้วละโลภะได้ เพราะเหตุว่า อริยสัจมี ๔...อริยสัจที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจจะ..... ทุกขะในที่นี้หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่น่ายินดี ซึ่งตรงข้ามกับสุขที่เราเพลิดเพลินและต้องการ  ตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ ใครจะเห็นว่า "เห็น" ขณะนี้เป็นทุกข์ ไม่มีทางเลย  เมื่อเห็นเกิดดับตามความเป็นจริงเมื่อไร และเมื่อไรประจักษ์เช่นนั้น  เมื่อนั้นคือ ทุกขอริยสัจจะ 

การที่จะรู้ได้อย่างนี้ ก็ต้องละความไม่รู้ด้วยการฟัง  จนกระทั่งเป็นความรอบรู้ของความต่างของขณะที่เห็น  แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมะ  กับขณะที่เห็นแล้วเริ่มค่อย ๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่าเป็นธรรมะ

นี่แหละชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย  ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลย ก็จะไม่รู้จริง ๆ ว่า  ธรรมะอยู่ที่ไหน ได้ยินแต่เขาบอกว่า ธรรมะเป็นอย่างนี้  ธรรมะเป็นอย่างนั้น  แต่เวลานี้ธรรมะคือ ขณะที่กำลังทำหน้าที่ของธรรมะแต่ละอย่าง เพราะว่าต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดก็เห็นไม่ได้....ปัญญาสามารถรู้ตามความจริง แต่อวิชชาถูกลวง ไม่รู้ก็เข้าใจว่ารู้  ไม่ใช่หนทางก็เข้าใจว่าหนทาง  ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คิดว่าใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย...ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่าน

วันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555

การจำแนกจิตโดยชาติ





 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

จิต เป็นสภาพธรรมที่รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด  จิตแต่ละดวงต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ ซึ่งเรียกว่า อารมณ์...จิตที่เห็น (จักขุวิญญาณ) มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์...จิตที่ได้ยิน (โสตวิญญาณ) มีเสียงที่ปรากฏทางหูเป็นอารมณ์...จิตที่รู้กลิ่น (ฆานวิญญาณ) มีกลิ่นที่ปรากฏทางจมูกเป็นอารมณ์...ไม่มีจิตดวงใดท่ี่เกิดขึ้นโดยปราศจากอารมณ์  แม้ในขณะที่นอนหลับ จิตก็ยังรู้อารมณ์ จิตมีมากมายหลายประเภท ซึ่งจำแนกได้เป็นหลายนัย เช่น จำแนกจิตโดยชาติ

ชาติ คือการเกิดขึ้น...จิตจำแนกโดยชาติหรือการเกิดขึ้นได้ ๔ ชาติ คือ อกุศล๑,  กุศล๑, วิบาก๑, กิริยา๑...จิตบางประเภทเป็นอกุศลจิต  จิตบางประเภทเป็นกุศลจิต  จิตบางประเภทเป็นวิบากจิต และจิตบางประเภทเป็นกิริยาจิต....อกุศลและกุศลเป็นเหตุให้เกิด กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ที่เป็นอกุศลและกุศลได้...จิตบางประเภทเป็นวิบากจิต คือเป็นผลของอกุศลกรรมและกุศลกรรม....จิตบางประเภทเป็นกิริยาจิต คือเป็นจิตที่ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต และไม่ใช่วิบากจิต

การที่รู้ว่าจิตแต่ละดวงเป็นชาติอะไร เป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าเราจะไม่สามาถเจริญกุศลได้เลย ถ้าหากว่าเราสำคัญผิดว่า "อกุศล" เป็น "กุศล" หรือสำคัญผิดว่า "กุศล" เป็น "วิบาก" เช่น เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่เป็นที่พอใจ  ขณะที่ได้ยินเสียงนั้น โสตวิญญาณ (จิตได้ยิน) เป็น "อกุศลวิบาก" เป็นผลของอกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำไปแล้ว แต่เมื่อภายหลังจากได้ยินแล้วเกิด "โทสะ" นั่นไม่ใช่วิบากจิต แต่เป็นอกุศลจิต...เพราะฉะนั้นจึงควรศึกษาให้เข้าใจเรื่องชาติของจิตแต่ละชาติ เพื่อที่จะได้ไม่สำคัญผิด และเพื่อที่จะได้สามารถเจริญกุศลให้ยิ่ง ๆ ขึ้นตามกำลังของปัญญา (ความเข้าใจ)

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกไว้ ณ ที่นี้ด้วย...ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านค่ะ

วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

ภารกิจที่ประเสริฐ








ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้ศรัทธาในธรรมทุกท่าน


 ทุกคนมีเวลาเหลือน้อยมาก จะอยู่บนโลกนี้อีกนานสักเท่าไหร่ไม่มีใครทราบ  แล้วยังจะยินดีพอใจที่จะอยู่กับโลภะ โทสะ โมหะ อีกต่อไป หรือว่าจะอยู่ด้วยความเห็นประโยชน์ ที่จะกระทำภารกิจอันประเสริฐที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้  สิ่งที่เราคิดว่าเป็นของเรา ก็ไม่ใช่ของเราเลยสักอย่าง  ตัวตนของเราตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ถ้าจิตไม่เกิดขึ้นทำกิจการงาน  ตัวของเราทั้งตัวก็เปรียบเสมือนท่อนไม้  และยังมีกลิ่นเหม็นน่ารังเกียจอีกด้วย แต่เราก็ยังไม่สามารถที่จะบอกได้ว่า นี่ไม่ใช่ตัวเราของเรา เพราะเหตุว่ายังไม่เกิดปัญญารู้ตามความจริงว่า  แท้ที่จริงไม่ใช่ของเราทุกขณะจิตเลย  เพราะว่าเป็นแต่เพียงธาตุเย็น ร้อน อ่อน แข็ง.....ตาก็เป็นรูปที่เกิดจากกรรม ทำให้รูปนี้สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏให้เห็น....หูเป็นรูปที่เกิดจากกรรมที่ทำให้รูปนี้สามาถกระทบกับเสียง  เมื่อเสียงเกิดกระทบแล้วต้องยังไม่ดับไป เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นได้ยินแล้วดับไป  นี่ก็คือภาระหน้าที่ของสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วจะต้องทำกิจการงาน ไม่ใช่เกิดขึ้นมาเฉย ๆ

 แต่ภาระหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่และมีประโยชน์กับสัตว์โลกทุกชีวิตทุกคนก็คือ "เข้าใจธรรม"  เพราะเป็นงานที่ประเสริฐที่สุดยิ่งกว่าทรัพย์สินเงินทองใด ๆ ในโลก.....ความเข้าใจธรรมเป็นสิ่งที่หาซื้อด้วยเงินทองไม่ได้เลย เพราะต้องมีการสะสม  ต้องเกิดขึ้นเพราะเป็นธาตุที่ไม่อยู่ในความบังคับบัญชาของผู้ใด....สักวันหนึ่งทุกคนก็จะต้องจากโลกนี้ไป  แล้วจะจากไปโดยไม่มีความเข้าใจธรรม ไม่มีการเข้าใจตามความจริง ก็เรียกว่า เป็นบุคคลที่มืดบอด....ความไม่รู้ความจริงเป็นความหลง (โมหะ) เป็นเหตุให้เกิดความติดข้อง (โลภะ) เมื่อติดข้องแล้วไม่ได้ในสิ่งที่ตนอยาก ก็จะเกิดความไม่พอใจ (โทสะ).....ทุกอย่างที่เกิดสะสมอยู่ในจิต ซึ่งไม่มีใครมองเห็นเพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทุกคนมีอัธยาศัยแตกต่างกันตามการสะสมของจิต

การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วมีโอกาสได้ฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้สะสมความเข้าใจเพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งจิตนั้น ไม่ใช่ของง่าย  บางคนไม่ได้สะสมการฟังพระธรรมมา หรือสะสมมาเพียงนิด ๆ หน่อย ๆ แล้วแต่กาล  เพราะยังไม่เห็นคุณค่าและประโยชน์มหาศาลของพระธรรม  สิ่งที่เราเคารพบูชาอย่างสูงสุดก็คือ  พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสอนของพระองค์ไม่ทำให้เกิดอกุศลและไม่ทำให้ใครเป็นทุกข์  เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเคารพผู้ใด  ก็ควรเคารพในคุณความดีสูงสุด และผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีสิ่งที่ให้เรายิ่งกว่าผู้อื่นให้  คือให้ปัญญาหรือความรู้......เราไม่สามารถที่จะทำปัญญาให้เกิดเองได้  เพราะว่าเราเป็นเพียงผู้ฟังหรือสาวก  เราไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ดังนั้นเราต้องรู้ถึงกำลังปัญญาของเราตามความเป็นจริง  ฟังธรรมและเข้าใจธรรมที่ได้ฟัง  ฟังน้อยก็เข้าใจน้อย  ถ้าได้มีโอกาสฟังเพิ่มอีก ก็เข้าใจเพิ่มมากขึ้น  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง  ทุกคำสอนของพระองค์นำไปสู่ปัญญาญาณสัจจะ  ผู้ใดฟังแล้วเข้าใจก็เป็นปัญญาของผู้นั้น ที่จะนำไปสู่มรรคสัจจะ คือหนทางที่จะดับกิเลสทั้งปวง.

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่าน

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

กำไรชีวิต






 
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ใจในธรรมทุกท่าน

กุศลกรรมและอกุศลกรรมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดวิบากกรรม  กุศลกรรมให้ผลเป็น "กุศลวิบาก" เป็นผลที่ดีตามเหตุนั้น ๆ  เช่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายกระทบสัมผัสสิ่งที่ดี สิ่งที่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลกรรมที่เลือกไม่ได้เลย  เมื่อถึงเวลาที่ผลของกรรมจะให้ผล จะห้ามไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยิน ไม่ให้ได้กลิ่น ไม่ให้ลิ้มรส  ไม่ให้กระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจไม่ได้เลย  ผลก็จะต้องเกิดขึ้น  เพราะเหตุว่ามี "เหตุ" ที่ทำให้ผลต้องเกิด และต้องเป็นอย่างนั้น

ส่วนอกุศลกรรมก็ให้ผล เช่น ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่น่าพอใจ  ให้ผลเป็นทุกข์ต่าง ๆ ตามเหตุปัจจัยนั้น ๆ  สิ่งไม่ดีไม่น่ายินดี ใคร ๆ ก็ไม่ปรารถนา  แต่ก็ต้องเกิดขึ้น  เพราะว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้ต้องเกิด และต้องเป็นเช่นนั้น

ขณะที่ฟังธรรมหรือศึกษาพระธรรม  ขณะนั้นเป็น "กุศลกรรม" เพราะเหตุว่าขณะนั้นมีความศรัทธาที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ได้มีความติดข้องในรูป  ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ  ฉะนั้นกุศลกรรมก็จะให้ผลเป็นกุศลวิบาก  แต่ขณะใดที่ผลของกุศลกรรม หรือกุศลวิบากเกิด และมีปัญญาเกิดร่วมด้วยเป็นกุศลจิต นำสิ่งที่ดีหรือสิ่งที่น่าพอใจมาให้ และยังมีกำไรอีกด้วย คือ "ปัญญา" ความเข้าใจเกิดจากการการฟัง,การศึกษาพระธรรม หรือการอ่านอะไรก็ตาม   เพราะฉะนั้นผลของกุศลย่อมให้ผลตามควรแก่เหตุปัจจัย

เหตุมีอย่างไรผลก็ต้องได้อย่างนั้น ขณะกำลังฟังธรรม ขณะนั้นก็กำลังอยู่ที่ความเข้าใจ มีความเห็นถูก จะมีมากหรือน้อยก็แล้วแต่เหตุ  ถ้าขณะนี้ได้สะสมความเห็นถูกมาแล้ว  สามารถเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ได้คิดถึงเรื่องอื่นเลย แต่มีสิ่งที่มีจริงกำลังปรากฏให้รู้ได้ แม้จะเล็กน้อยสั้นมาก ขณะนั้นปัญญาก็เกิดขึ้น รู้ตามความเป็นจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้  ขณะใดที่กุศลมีปัญญา (เข้าใจตามความเป็นจริง) เกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็เป็นกำไรชีวิตที่ประเสริฐ

สำหรับบทความนี้หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย  และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย.....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยค่ะ

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ภัยใหญ่ของชีวิต




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ ท่านผู้ใฝ่ในธรรมทุกท่าน

ท่านทราบไหมว่า อะไรคือภัยใหญ่ของชีวิต....อกุศลและกิเลสเป็นภัยใหญ่ของชีวิต  ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงเข้านอน ถูกอกุศลและกิเลสครอบงำท่วมท้นยิ่งกว่ามหาอุทกภัย  เราท่านทั้งหลายอยู่ในโลกของความมืด ไม่มีแสงสว่างเลย เราสามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้แค่ทางตาเท่านั้น  หลังจากเห็นแล้วก็เป็นเรื่องความคิดนึกมากมาย  เป็นเรื่องกุศลบ้างและอกุศลบ้าง 

สำหรับผู้ที่เคยได้ฟังพระธรรม และพิจารณาธรรมก็จะรู้ถึงภัยใหญ่ของชีวิต....เริ่มตั้งแต่ลืมตาตื่นนอน กิเลสและอกุศลมีมากมายสักเท่าไร เช่น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ  เคยคิดจะรอดพ้นจากภัยหรือไม่  สำหรับท่านที่ไม่เคยฟังพระธรรม ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ไม่คิดที่จะขัดเกลากิเลสอันเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิต และไม่คิดจะกระทำกรรมดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้น จนสามารถรอดพ้นจากอกุศลและกิเลสทั้งปวงได้ ก็จะไม่สามารถรู้ได้ว่าอะไรเป็นภัยใหญ่ของชีวิต

ชีวิตเต็มไปด้วยภัย จะพ้นจากภัยได้ก็มีทางเดียวเท่านั้นคือ เริ่มต้นด้วยการฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่เข้าใจธรรมะก็เป็นกุศลแล้ว  นอกจากนั้นยังนำมาซึ่งกุศลอื่น ๆ ด้วย เช่น มีความเห็นถูก  มีความเข้าใจถูกและค่อย ๆ สะสมอบรมเจริญขึ้นด้วยความเพียร (วิริยะ) และความอดทน (ขันติ) อย่างต่อเนื่อง  ผู้เห็นประโยน์ของพระธรรม จึงต้องฟังธรรมด้วยการเป็นผู้ตรง และด้วยความเคารพพระธรรม....... ขณะฟังก็มีธรรมะปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ  มีความเข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏแค่ไหน  ก็จะต้องอาศัยการฟังธรรมหลาย ๆ ครั้ง โดยไม่หวังที่จะเป็นพระอริยบุคคล หรือจะประจักษ์การเกิดและดับไปของธรรมต่าง ๆ  ในเวลาอันสั้น แต่เป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้นและมั่นคงขึ้นว่า "ทุกอย่างเป็นธรรมะ"  ธรรมทั้งหลายเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย......อกุศลและกิเลสทั้งปวงก็เป็นธรรมะ เพราะฉะนั้นจะรอดพ้นภัยใหญ่ของชีวิตได้ก็ด้วย "ความเข้าใจ" (ปัญญา) เท่านั้น ไม่ใช่รอดพ้นด้วยความเป็นตัวตน บุคคล เรา เขา

สำหรับบทความนี้หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย ณ ที่นี้....ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ความวิจิตรของความคิด




ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมตลอด ๔๕ พรรษา พระองค์ได้ทรงแสดงถึงแต่เรื่องที่มีจริง เป็นความจริงในชีวิตประจำวัน เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว คิดนึก ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งสามารถรู้ได้....เห็นแล้วจะไม่ให้คิดก็ไม่ได้  ได้ยินแล้วจะห้ามไม่ให้คิดก็ไม่ได้ จะไม่ให้จิตคิดเกิดขึ้นก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าทุกอย่างไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

แต่ละคนก็มีความคิดแตกต่างกันหลากหลาย....ความวิจิตรของความคิดก็แตกต่างกันไป มีความวิจิตรมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏขณะนั้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ....จิตถึงแม้ว่าเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีการสะสมสืบต่อ เป็นปัจจัยให้แก่จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น จึงมีการสะสมสืบต่ออัธยาศัยทั้งดีและไม่ดี

ความคิดของแต่ละบุคคลหลากหลายมาก  แตกต่างกันตามการสะสมของจิต เพราะเหตุว่าไม่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา เพราะเหตุว่าไม่รู้ (อวิชชา) จึงยึดถือในสิ่งที่ปรากฏว่าเที่ยง เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา เป็นของเรา ของเขา หรือนึกคิดเป็นเรื่องราวต่าง ๆ  ถ้าหลับสนิทก็ไม่มีเรื่องราว เพราะไม่มีการกระทบกับอารมณ์ต่าง ๆ  แต่พอลืมตาตื่น ก็ได้ยิน ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ แล้วก็คิดนึกเรื่องราวต่าง ๆ .....เรื่องราวต่าง ๆ ก็เกิดมาจากการจำคำจากเสียงต่าง ๆ  เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับสืบต่อมากมาย จนกระทั่งจำไว้เป็นเรื่องราวต่าง ๆ

สิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนถึงสิ้นลมหายใจ ก็คือสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่เราก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง....ความสุขความทุกข์มาจากไหนเราก็ไม่รู้  ถ้าไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การได้ลิ้มรส การได้กระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว นึกคิด ความสุขความทุกข์ ความยินดีพอใจไม่พอใจย่อมไม่มี......จะไม่ให้เห็น ไม่ให้ได้ยิน ไม่ให้ลิ้มรสก็ไม่ได้ เพราะทุกอย่างทุกขณะเป็นธรรมะ เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย ใครก็ทำให้เกิดไม่ได้  ใครจะบังคับบัญชาให้เป็นไปดังใจปรารถนาก็ไม่ได้

สักวันหนึ่งเราก็จะต้องจากโลกนี้ไป และก็จะจำไม่ได้ว่า มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในชีวิตของเราที่ผ่านมา.....คนเราเกิดมาหลายภพหลายชาติ เกิดมาต่างกัน ชาติก่อน ๆ ก็เหมือนชาตินี้ เพราะว่ามีธาตุรู้เกิดขึ้นรู้มาตลอดทุกภพทุกชาติ จนกระทั่งถึงวันนี้  เมื่อวานก็มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส ก็เป็นปัจจัยให้วันนี้ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส แล้วก็คิดต่อจากการที่ได้จำไว้จากการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่นเมื่อวานนี้ แล้วก็คิดเป็นเรื่องราวต่าง ๆ

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แต่ละขณะจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปก็จริง แต่เป็นปัจจัยสืบต่อของทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้นเมื่ออกุศลหรือกุศลประเภทใดเกิด อกุศลหรือกุศลประเภทนั้นก็จะมีมาก เพราะเหตุว่ามีการสะสมสืบต่อไปอีกมากมาย....ด้วยเหตุนี้จึงควรศึกษาเพื่อความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง และควรศึกษาให้เข้าใจอย่างยิ่งด้วย

สำหรับบทความนี้ หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านด้วย ณ โอกาสนี้....ขออนุโมทนาในกุศลจิตกับทุกท่านค่ะ

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555

ชีวิตคืออะไร




  
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ  ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน

ชีวิต  คือสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว  เพราะเหตุว่า "อวิชชา" (ความไม่รู้) ปิดบังจึงทำให้เราไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้....สภาพธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วดับ  จึงไม่เที่ยง ภาษาบาลีเรียกว่า "อนิจจัง"  ความไม่เที่ยงของสภาพธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์กายทุกข์ใจ.....สภาพธรรมทั้งหลายไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด  เพราะว่าไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ภาษาบาลีเรียกว่า "อนัตตา" 

ชีวิต ไม่เที่ยงเป็นเพียงชีวิตชั่วคราวและสั้นมาก  เพราะเหตุว่ามีการเกิดดับสืบต่อเร็วมาก  ด้วยเหตุว่าเราไม่รู้ตามความเป็นจริง คิดว่าชีวิตนี้ยืนยาวนาน  จึงมีการติดข้องในสภาพธรรมทุกอย่าง ที่ปรากฏขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น  ทางกายและทางใจ....มีสิ่งเดียวเท่านั้นที่ติดข้องไม่ได้คือ "นิพพาน" แต่ถ้ายังไม่ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้  ก็ไม่สามารถที่จะรู้จักนิพพานได้เลย

เราเกิดมาก็เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย และนอกจากนั้นยังมีความติดข้อง (โลภะ) ตามมาด้วยทุกภพทุกชาติ เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) จึงติดข้องต้องการ ยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์  และยึดถือว่าสิ่งนั้น ๆ  ยังคงมีอยู่  ซึ่งที่จริงดับไปนานแล้ว....ดังนั้นจึงต้องอบรมเจริญปัญญา เพื่อที่จะละความไม่รู้ (อวิชชา) ออกไปทีละเล็กทีละน้อยตามลำดับของปัญญาแต่ละขั้น  เริ่มด้วยการฟังพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  จนกว่าจะมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นเป็นปัญญาขั้นต้น

สำหรับบทความนี้  หากมีความผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัย และขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่าน ไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านค่ะ

วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2555

รูปธรรมและนามธรรมหมายถึงอะไร






  
ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีค่ะ....ท่านผู้ใจบุญทุกท่าน



ท่านมีความเข้าใจในสิ่งที่มีจริงหรือยัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ความจริงในสิ่งที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ ภาษาบาลีว่า "สัพเพ ธัมมา"  พระองค์ทรงแสดงพระธรรมในเรื่องของสิ่งที่มีจริงตลอดเวลา ๔๕ พรรษา เพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งหลาย

คำว่า "ธรรมะ" หมายความถึงสิ่งที่มีจริง ทุกอย่างเป็นธรรมะ แต่ว่าเราไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าทุกอย่างอยู่ในตัวของเราและในโลกเป็นธรรมะ เพราะเหตุว่ามีอวิชชา (ความไม่รู้)ปิดบัง จึงไม่สามารถรู้ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม  แต่ถ้าเราเริ่มศึกษาก็จะเริ่มเข้าใจขึ้นว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ทั้งหมดก็คือขณะที่กำลังปรากฏขณะนี้.....

ธรรมะหรือสิ่งที่มีจริงในโลกนี้  พระองค์ได้ทรงจำแนกออกเป็น ๒ ลักษณะต่างกันคือ นามธรรมกับรูปธรรม....สิ่งที่มีจริงไม่จำเป็นต้องมองเห็น เช่น เสียงมีจริง แต่เสียงไม่สามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้  เสียงไม่คิด  เสียงไม่รู้กลิ่น เสียงไม่รู้รส เสียงไม่สุข เสียงไม่ทุกข์ เสียงไม่คิด เสียงไม่สามารถรู้อะไรทั้งสิ้น  เสียงจะปรากฏได้เมื่อมีของแข็งกระทบกัน ทำให้สภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือ "เสียง" และเสียงปรากฏได้เมื่อบุคคลนั้นมีโสตปสาท (หู) จึงสามารถได้ยิน (รู้) เสียง....นอกจากเสียงแล้วก็ยังมีอีกมากมายที่เป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อะไรเลย เช่น สี กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง เหล่านี้เป็นรูปธรรมทั้งหมด.....

สภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งเป็น สภาพรู้หรือธาตุรู้ (จิต) เรียกว่า "นามธรรม" เกิดขึ้นเมื่อใด จะต้องมีสิ่งที่ถูกรู้เสมอ เช่น เมื่อเห็น (จักขุวิญญาณ) เกิดก็จะต้องมีสิ่งที่ถูกเห็น (รูปารมณ์)ปรากฏ......เมื่อได้ยิน (โสตวิญญาณ)เกิดขึ้น ก็จะต้องมีเสียง (สัทธารมณ์)ปรากฏ......เมื่อได้กลิ่น (ฆานวิญญาณ)เกิดขึ้นก็จะต้องมีกลิ่น (คันธารมณ์)ปรากฏ......เมื่อลิ้มรส (ชิวหาวิญญาณ) เกิดขึ้น ก็จะต้องมีรส (รสารมณ์) ปรากฏ...... เมื่อรู้ (กายวิญญาณ)กระทบสัมผัสทางกาย เกิดขึ้น ก็จะต้องมีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง (โผฏฐัพพารมณ์) ปรากฏ....... เมื่อรู้ความคิดนึก (มโนวิญญาณ)เกิดขึ้น ก็จะต้องมีเรื่องราว(ธรรมารมณ์)ปรากฏ

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ธาตุรู้หรือจิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏให้รู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ....ดังนั้นจึงพอที่จะแยกสภาพธรรม ๒ อย่างนี้ได้ เช่น เสียงไม่ใช่สภาพที่ได้ยิน....กลิ่นไม่ใช่สภาพได้กลิ่น...รสไม่ใช่สภาพรู้รส ....เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา......เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึงไม่ใช่สภาพรู้  แต่มีจริงเมื่อมีการกระทบสัมผัสทางกาย ซึ่งสามารถรู้ได้ด้วยธาตุรู้คือนามธรรม

สำหรับบทความนี้หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด ผู้เขียนขอกราบขอขมาแด่พระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านทุกท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย....ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านด้วยค่ะ

วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

มีที่พึ่งแล้วหรือยัง

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สวัสดีปีใหม่ค่ะ....ท่านผู้สนใจในพระธรรมทุกท่าน




หนึ่งปีผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน ถ้าหากเราปล่อยใจให้มัวเพลิดเพลินยินดีพอใจ ติดข้องต้องการอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และความนึกคิดทางใจผ่านไปแต่ละปี ๆ โดยที่ไม่มีที่พึ่งที่ยึดที่ถูกต้องเลย ชีวิตก็จะเป็นชีวิตที่เกิดมาเพื่อการสะสมสิ่งไร้ค่า หาสาระมิได้.....แล้วท่านล่ะ มีที่พึ่งที่ประเสริฐแล้วหรือยัง !

อันวิชาความรู้แขนงต่าง ๆ มากมายที่เราร่ำเรียนกันในทางโลก  ซึ่งคิดว่าเป็นความรู้ที่ทำให้เป็นคนเก่งคนฉลาด เป็นที่ยอมรับในสังคม พากันขนขวายมุ่งที่จะร่ำเรียน เพื่อให้ตนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถมาก ๆ และเป็นที่ยอมรับ นับตั้งแต่สังคมในครอบครัว จนกระทั่งสังคมระดับประเทศ ยิ่งกว่านั้นอีกก็คือเป็นที่ยอมรับระดับโลก.....อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเก่งมากมายขนาดไหน ถ้าหากว่าวิชาความรู้นั้น ไม่ใช่การรู้ตามความเป็นจริงของขันธ์ ๕ ไม่รู้เรื่องของตัวเอง ไม่รู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กายและใจแล้ว ก็เรียกว่า ยังเป็นผู้ขาดที่พึ่งที่แท้จริงอยู่ดี

การศึกษาเรื่องตัวเอง, เรื่องขันธ์ ๕, เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กายและใจนี้ เป็นความรู้ที่ละเอียดลึกซึ้้งมาก  การรู้เรื่องตนเองอย่างถ่องแท้ ก็จะทำให้เราสามารถรู้จักคนอื่นได้อย่างถ่องแท้เช่นกัน เพราะเหตุว่าทุกคนก็มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน มีจิตเห็น มีจิตได้ยิน มีจิตลิ้มรส มีจิตรู้กลิ่น มีจิตรู้กระทบสัมผัสทางกาย รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว และจิตรู้ความนึกคิด..... แต่ว่าเราไม่ทราบความแตกต่างของลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ดังเช่น  "เห็น" ทุกคนมีเห็นเหมือนกัน  เห็นต่างกับได้ยิน  เพราะเห็นเป็นจิตที่เกิดทางตา ทำกิจรู้สิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏทางตาเท่านั้น..... ส่วนได้ยินเป็นจิตที่เกิดทางหู ทำกิจรู้เฉพาะเสียงเท่านั้น  นอกจากนั้น "เห็น"ของแต่ละคนยังต่างกันอีกด้วย  บางคนได้เห็นสิ่งที่ดีที่สวยงาม  แต่บางคนได้เห็นสิ่งที่น่าเกลียด ก็เพราะเหตุว่าแต่ละคน ได้กระทำกรรมมาแตกต่างกัน จึงมีวิบากหรือผลของกรรมต่างกันไปตามเหตุปัจจัย......หลังจากที่ได้เห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ได้กลิ่นแล้ว ได้ลิ้มรสแล้ว จิตก็จะเป็นกุศลบ้างหรือเป็นอกุศลบ้าง

ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า วิชาความรู้ทั้งหลาย ที่เราได้ศึกษาเล่าเรียนมากันอย่างมากมายเป็นเวลาหลายปีนั้น  ถ้าไม่ใช่การรู้ตามความจริงของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายและทางใจ  ความรู้นั้นก็ยังไม่สามารถที่จะเป็นที่พึงแก่เราได้.....พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงอันประเสริฐ (อริยสัจจ์ ๔) ทรงประจักษ์แจ้งโลกและสิ่งที่อยู่เหนือโลกตามความเป็นจริง....พระธรรมที่พระองค์ได้แสดงไว้ดีแล้ว เป็นเวลา ๔๕ พรรษา ถ้าท่านผู้ใดไม่มีความศรัทธาที่จะน้อมจิตเชื่อในพระธรรมของพระองค์  เพราะเหตุว่าไม่เห็นคุณค่าและประโยชน์ของพระธรรมจริง ๆ  ท่านผู้นั้นก็จะไม่สามารถ  ที่จะมีพระธรรมเป็นที่พึงอันประเสริฐได้เลย....การที่จะมีพระธรรมเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริงนั้น มิใช่อยู่ที่การสวดหรือท่องบริกรรมทุกเช้าค่ำแต่คำว่า  "พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ" เท่านั้น.....

การปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ ควรเริ่มต้นด้วยการน้อมจิตศรัทธา ในการฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอย่างละเอียดเพื่อเกื้อกูลแก่สัตว์โลกทั้งหลาย  เพราะเหตุว่าแต่ละคน มีระดับปัญญาแตกต่างกัน มีการสะสมอุปนิสัยและเหตุปัจจัยมาต่างกัน  บางคนฟังพระธรรมสั้น ๆ  เพียงครั้งเดียวก็สามารถเข้าใจได้  ด้วยเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา เพื่อที่จะละความไม่รู้ (อวิชชา) ก็สามารถที่จะเข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ได้....ทุกคนหนีไม่พ้นความตาย ทุกคนจะต้องประสบกับความสุขบ้าง ประสบกับความทุกข์บ้าง  แล้วทุกคนก็จะต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไว้บนโลกนี้ จากโลกนี้ไปพร้อมกับความไม่รู้ (อวิชชา) และความติดข้อง (โลภะ) จะจากไปพร้อมกับความโง่ !  หรือควรจะสะสมวิชชา (ความรู้) ปัญญาอันเป็นแสงสว่างแก่ชีวิต และเป็นเครื่องประหารกิเลส....ดังนั้นจึงควรอยู่อย่างมีพระธรรม  เป็นที่พึ่งอันประเสริฐและจากโลกไปพร้อมกับพระธรรม  !!

บทความนี้หากมีข้อความใดผิดพลาดประการใด  ผู้เขียนขอกราบขอขมาต่อพระรัตนตรัยและขออโหสิกรรมจากท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย.......ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านด้วย

                                          
                                              .....................................